ตลาดส่งอาหารเดือด! เมื่อค่ายเล็ก แห่ชิงเค้ก 3.5 หมื่นล้าน


อย่างที่เราจะเห็นภาพได้ชัดในปัจจุบัน สำหรับสงครามธุรกิจส่งอาหาร “ฟู้ด เดลิเวอรี่” (Food Delivery) ในเมืองหลวงอยู่ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะบริษัทต่างชาติและทั้งไทยต่างเปิดแอปพลิเคชันจัดเต็มด้วยโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าเข้ามาให้ใช้บริการหวังแย่งพื้นที่ส่วนแบ่งตลาด โดยจากที่นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินมูลค่าตลาดไว้ว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจัยมาจากกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยฮิตสั่งอาหารเมนูจานโปรดมารับประทานที่บ้านพักหรือที่ออฟฟิศโดยไม่ต้องออกนอกสถานที่ไปเผชิญกับจราจรติดขัดในเมืองหลวง

เมื่อพฤติกรรมของกลุ่มบริโภคเปลี่ยน หันไปนิยมสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถตอบโจทย์ได้โดยตรง ทำให้ธุรกิจส่งอาหารจานด่วนเกิดขึ้นมากมาย จนกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายให้กับผู้ประกอบการแอปพลิเคชันแล้ว ร้านอาหารทั่วไปยังสามารถเพิ่มยอดขายได้มากกว่า 80% ตลอดทั้งยังสร้างอาชีพให้กลุ่มขับรถจักรยานยนต์ มีทั้งที่ยึดเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ด้วยรายได้ตกเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับความขยันแต่ละบุคคล

ปัจจุบันแอปพลิเคชันสั่งอาหารเดลิเวอรี่อันดับต้นๆ ที่ครองใจชาวกรุงมีอยู่ 5 แอปพลิเคชันด้วยกัน ประกอบด้วย Foodpanda, GrabFood, LINE MAN, HappyFresh และ Gobike ซึ่งแต่ละแอปพลิเคชันต่างอัดแคมเปญในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์มาแบบจัดเต็ม เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ โดยสาเหตุหลักที่ผู้ประกอบการเปิดศึกสงครามแข่งอย่างรุนแรงเนื่องจากต้องการรวบรวมฐานข้อมูลลูกค้า (Big Data) ผู้ประกอบการร้านอาหาร ให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อมีฐานลูกค้าได้จำนวนมากในปริมาณนับแสนนับล้านแล้ว เป้าหมายต่อไป คือ การต่อยอดธุรกิจได้หลากหลายแขนงผ่านแอปพลิเคชัน ตลอดทั้งสามารถเรียกค่าบริการจากผู้ประกอบการร้านอาหารได้อีกทางหนึ่ง โดยช่วงแรกบรรดาผู้ประกอบการแอปพลิเคชันมักจะยอมขาดทุนในส่วนนี้ไปก่อน 

ในส่วนของจุดเด่นและความแตกต่างของแต่ละรายจะเป็นอย่างไร มาดูกัน

เริ่มที่ Foodpanda ซึ่งก่อกำเนิดที่ประเทศเยอรมนี โดยบริษัท Delivery Hero เข้าซื้อ Foodpanda ทำให้ทั้งสองบริษัทกลายเป็น Startup ด้าน Food delivery ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ปัจจุบันขยายสาขาไปทั่วโลก โดย Foodpanda เข้ามาเปิดในประเทศไทยเมื่อปี 2555 ถือเป็นเบอร์ 1 ที่มีร้านอาหารอยู่ในฐานข้อมูลมากกว่า 7,000 ปี 2561 และในปี 2562 ตั้งเป้าขยายไม่ต่ำกว่า 1 แสนร้านค้าของมูลค่าการสั่งออร์เดอร์ของลูกค้า เมนูที่ลูกค้าไทยนิยมคือ พิซซ่า เบอร์เกอร์ แล้วก็เมนูไก่ อย่างบอนชอน ทั้งแบบจ่ายเงินสดเก็บปลายทาง

โดยสัดส่วนของพื้นที่ ที่ใช้บริการ Foodpanda อันดับ 1 คือ ย่านสุขุมวิท มากถึง 15% ในขณะที่ อันดับ 2 อโศก อยู่ที่ 8% ต่างกับเกือนครึ่ง อันดับ 3 สาทร อันดับ 4 ทองหล่อ อันดับ 5 พระโขนง อันดับ 6 เอกมัย อันดับ 7 คลองเตย อันดับ 8 นานา อันดับ 9 วัฒนา และ อันดับ 10 พร้อมพงษ์ จะเห็นว่าย่านที่ใช้บริการเป็นหลักคือสุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ มีสำนักงาน บริษัท คอนโด รวมถึงแหล่งชุมชนอยู่มาก เลยเป็นที่นิยม เพราะไม่อยากออกไปรถติดบนท้องถนนและเบื่อที่จะต้องไปรอคิวนานๆ ตามร้านอาหาร

Foodpanda ถือว่าต้นตำหรับบริการส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันรายแรกของไทย หลังจากนั้นความนิยมเริ่มเพิ่มขึ้น เริ่มมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย เช่น GrabFood ในเครือของแกร็บ (Grab) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์ ผู้ให้บริการเรียกรถ ปัจจุบันขยายสาขา 4 ประเทศ ประกอบด้วยเวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา และ ไทย

 

GrabFood สำหรับไทย เข้ามาเปิดให้บริการในปี 2561 ทุกวันนี้มีฐานข้อมูลร้านอาหารในกทม.มากกว่า 4,000 ร้าน ขณะที่ LINE MAN ถือกำเนินเกิดขึ้นภายใต้ทีมงานของ LINE ประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เป็นบริการที่มาจากต่างชาติ ถือเป็นการบริการที่คนไทยคิดเพื่อคนไทยขนานแท้ เปิดบริการในไทยเมื่อปี 2561 มีร้านอาหารในเครือ Wongnai กว่า 40,000 ราย แต่มีร้านค้าเข้ามาใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันแล้วกว่า 1,000 ราย

ชาญวุฒิ ลือชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการการตลาดและสื่อสารองค์กร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ในภาพรวมทุกบริการเพิ่มขึ้นของยอดการใช้บริการ 300% และมีผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งบริการที่เติบโตดี จนถือเป็น Growth Engine คือ LINE MAN Food โต 250% และ LINE MAN Taxi โต 330% เนื่องจากบริการจัดส่งอาหาร ได้เพิ่มความหลากหลายของร้านอาหาร บวกกับความสะดวก

การทำธุรกิจ LINE MAN ไม่สามารถเติบโตคนเดียวได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพันธมิตรแต่ละกลุ่มบริการเข้าร่วม อย่างบริการสั่งอาหาร ปัจจุบัน LINE MAN มีกว่า 40,000 ร้านค้า มากกว่า 80% เป็นร้านสตรีทฟู้ด นอกจากนั้นยังจับมือกับ “วงใน” (Wongnai) ซึ่งเป็นออนไลน์รีวิวอาหารรายใหญ่ในไทยที่โดดเด่นด้านอาหารการกิน เพื่อแนะนำว่าวันนี้ มื้อนี้ จะรับประทานอะไรดีจากร้านอาหารมากมายที่อยู่บนแพลตฟอร์ม LINE MAN

 

HappyFresh ยักษ์ใหญ่ผู้ให้แพลตฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ประเทศอินโดนีเซีย ที่สาขา 3 แห่งในอาเซียน ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยเข้ามาเปิดบริการในไทยเมื่อปี 2559 ทุกวันนี้มีรายการสินค้ามากกว่า 300,000 รายการ เช่นเดียวกับ goBIKE แบรนด์สัญชาติไทยที่ให้บริการทั้งส่งอาหารและพัสดุ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 

เจรกอร์ช ซากาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮปปี้เฟรช ประเทศไทย บอกว่า HappyFresh มีรายการสินค้ามากกว่า 300,000 รายการ รวมถึงร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าชั้นนำมากกว่า 278 แห่ง และมีการให้บริการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าไปแล้วรวมมากกว่า6,339,650 กิโลเมตร พร้อมบริการถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงถัดไป หรือตามเวลาที่ลูกค้าสะดวก อีกทั้งยังมีพาร์ตเนอร์ถึง 92 ราย อาทิเช่น กูร์เมต์ มาร์เก็ต, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี และอื่นๆ และจำนวนพนักงานมืออาชีพที่พร้อมให้บริการช่วยคัดสรรสินค้าคุณภาพดีกว่า 1,000 คน

ขณะที่ อัฏฐพล สิทธิชัยอารีกิจ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน goBIKE บอกว่า ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่จับมือกับพันธมิตรร้านสะดวกแฟมิลี่ มาร์ท แต่ยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหารหลาย 100 แห่งบริการส่งสินค้าทั่วกรุงเทพฯ มีค่าบริการเริ่มต้น 50 บาท และยังได้ร่วมสมาคมฯ วินมอเตอร์ไซค์บริการรับส่งผู้โดยสารทั่วกทม.ผ่านแอปพลิเคชัน goBIKE โดยทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ทิ้งผู้โดยสารกลางทาง เพิ่มช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับวินมอเตอร์ไซค์

ตารางเปรียบเทียบ 3 Food Delivery ยอดฮิต

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อดูที่ราคาเริ่มต้นแล้ว GrabFood ให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีค่าบริการเริ่มต้นที่ต่ำที่สุดเหมือนกับ Foodpanda และ LINEMAN โดย GrabFood ชูบริการเน้นทำได้ดีกว่าคู่แข่ง ทั้งในด้านความเร็วและค่าบริการที่เร็วกว่าถูกกว่า

ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เชื่อว่าการบริการส่งอาหารจะสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทต่อจากบริการเรียกรถส่งคน เพราะธุรกิจส่งอาหารตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดมูลค่าธุรกิจ “ฟู้ด เดลิเวรี” ปี262 พุ่งแตะ 35,000 ล้านบาท ผลจากการแข่งขันของแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าทางการตลาด เติบโตต่อเนื่องราว 14% จากปีก่อน และคิดเป็น 8% ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนจากการแข่งขันของแอปพลิเคชันสั่งอาหาร

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจ Food Delivery คือเทรนด์ที่ตอบโจทย์กระแส เร็ว สะดวก ง่าย ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทิศทางไปแบบนั้น แต่การจะแข่งขันให้ยืนหนึ่งในตลาดได้ท่ามกลางคู่แข่งที่แข็งแรงหลายๆ รายไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่หากรายไหนทำได้ ก็หมายถึงการคว้าชัยชิงเค้กชิ้นใหญ่ระดับ 35,000 ล้านบาทเลยทีเดียว