ผลสำรวจความคิดเห็นนักข่าว ชี้คุณภาพคอนเทนต์สำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง


นักข่าวในเอเชียแปซิฟิกยกให้คุณภาพคอนเทนต์เป็นตัววัดผล KPI มากกว่าจำนวนผู้อ่าน ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่จำนวนข่าวที่เขียนขึ้นเองและการมีส่วนร่วมทางโซเชียลมีเดีย

ข่าวประชาสัมพันธ์ยังคงเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุดในการนำไปประกอบการเขียนข่าว โดยนักข่าวไว้วางใจข่าวประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ (27%) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่องทางโซเชียลมีเดีย (10%)

บุคลากรในแวดวงสื่อและพีอาร์ในเอเชียแปซิฟิกต่างกำลังรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่กลุ่มเป้าหมายเองก็มีพฤติกรรมความสนใจเปลี่ยนไป พีอาร์นิวส์ไวร์เปิดเผยรายงาน Asia-Pacific Media Survey 2019 ที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของนักข่าวในการปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

รายงานนี้ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักข่าวและบุคคลในแวดวงสื่อเกือบ 1,000 รายใน 9 ประเทศ ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย, จีนแผ่นดินใหญ่, ฮ่องกง, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และเวียดนาม

แม้จำนวนผู้อ่านเป็นสิ่งที่วัดผลได้ทันที แต่นักข่าว 25% มองว่าคุณภาพของคอนเทนต์เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) อันดับหนึ่ง ตามมาด้วยจำนวนข่าวที่เขียนขึ้นเอง เช่น จำนวนข่าวต่อสัปดาห์ และการมีส่วนร่วมทางโซเชียลมีเดีย เช่น ยอดแชร์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย

ผลการสำรวจพบว่า แหล่งข่าวที่ได้รับการพิสูจน์แล้วนั้นมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น นักข่าว 73% ในจีนแผ่นดินใหญ่เชื่อว่า ความถูกต้องของข่าวเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งเมื่อต้องประเมินคุณค่าของข่าว ข่าวประชาสัมพันธ์ยังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด โดยมีนักข่าวจากตลาดเอเชียแปซิฟิก (ตลาดหลัก 8 แห่ง ไม่รวมจีนแผ่นดินใหญ่) ที่ให้ความไว้วางใจข่าวประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเป็นสัดส่วน 27% ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับโซเชียลมีเดียที่ 10% นอกจากนี้ ยังพบว่า ข่าวประชาสัมพันธ์ได้รับความไว้วางใจเพิ่มขึ้น 5% จากเดิม 22% เมื่อปี 2559-2560

แหล่งข่าวที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมีบทบาทสำคัญในการเขียนข่าวของนักข่าว โดยนักข่าวจากตลาดเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่มักติดต่อแหล่งข่าวของตนเอง (60%) และดูข่าวประชาสัมพันธ์ (51%) เมื่อต้องการหาข้อมูลอ้างอิงประกอบข่าวของตนเอง

ประเด็นสำคัญอื่นๆ จากรายงาน

– รูปภาพความละเอียดสูง (29%) เป็นสื่อมัลติมีเดียที่นักข่าวจากตลาดส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกต้องการมากที่สุดเพื่อนำไปประกอบข่าว โดยนักข่าว 25% ต้องการคลิปวิดีโอ ตามมาด้วยภาพอินโฟกราฟิก (21%)

– นักข่าวมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อสร้างคอนเทนต์คุณภาพ โดยนักข่าวทั่วเอเชียแปซิฟิกต่างต้องการเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาตนเองในเรื่องการรายงานข่าวและสัมภาษณ์อย่างเจาะลึก ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559-2560

– การสื่อสารหลายภาษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการบุกตลาดโลก โดยนักข่าวในฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้ตอบแบบสำรวจในหลายภาษา ขณะที่นักข่าวเกือบ 100% ในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ได้ตอบแบบสำรวจของเราในภาษาที่ใช้กันส่วนใหญ่ในประเทศของตนเอง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความโน้มเอียงของกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายในประเทศต่างๆ

อ้างอิง: พีอาร์นิวส์ไวร์