“สถาบันการเงิน” ออกมาตรการช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ภาคธุรกิจ-เกษตรกรรม


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย สถาบันการเงินร่วมจัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งบ้านเรือน ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เนื้อหาระบุว่า

“ สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดเริ่มลดลงแล้วค่ะ แต่แนวทางการฟื้นฟูยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งบ้านเรือน ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม และสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชน ล่าสุด มีหลายแบงก์ที่ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ อย่างเช่น ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้า คือ

มาตรการที่ 1 กรณีที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคารของตนเองหรือ คู่สมรสได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระได้

มาตรการที่ 2 ลูกค้าที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี

มาตรการที่ 5 หากลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 แบงก์จะพิจารณาสินไหมเร่งด่วนให้ลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ

ทางด้าน ธ.ก.ส. ก็ได้ยืดระะยะเวลาชำระหนี้ ส่วน SME D Bank ชำระหนี้ 6 เดือน ด้านธนาคารกรุงไทยได้พักชำระหนี้ พร้อมลดดอกเบี้ย ให้ลูกค้า ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกมาตรการช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีน้ำท่วมในภาคอีสาน ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์พักชำระหนี้ 3 เดือน และลดดอกเบี้ยสูงสุด 100% ขยายเวลาผ่อน 5 ปี ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ตามธนาคารที่ท่านเป็นลูกค้านะคะ”