“กัมพูชา” หนึ่งในประเทศในกลุ่มตลาดอาเซียน CLMV ที่มีแนวโน้มต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโต 7% ต่อปี ทั้งยังมีจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนประชากรในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยกำลังการผลิตและการขาดแคลนเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงทำให้สินค้าเครื่องดื่มที่ผลิตได้ในกัมพูชาเอง ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระบุว่า ในปี 2561 กัมพูชานำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 1,052 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 33,664 ล้านบาท (คิดด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าสินค้าจากไทยครองอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 70% โดยแบ่งเป็นการนำเข้าเครื่องดื่มมูลค่า 432 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 13,824 ล้านบาท เป็นสินค้าน้ำตาล และผลิตภัณฑ์น้ำตาล 227 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 7,264 ล้านบาท
ที่มาจาก : กระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ การคาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ของกัมพูชา จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสินค้าจากประเทศไทย มีจุดแข็งและมีความได้เปรียบ เนื่องจากชาวกัมพูชามีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย โดยเฉพาะในด้านคุณภาพและราคาที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ทำให้ชาวกัมพูชารู้จักและคุ้นเคยกับสินค้าไทย และด้วยการที่ทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดต่อกัน จึงเป็นแรงหนุนทำให้สินค้าไทยสามารถขนส่งและกระจายเข้าไปยังกัมพูชาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
จากการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไปยังกัมพูชา ในปี 2563 จำนวน 7 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ขณะที่อัตราการขยายตัวของประชากรในกัมพูชาก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทยยังต้องรักษาคุณภาพ เพื่อแข่งกับคู่แข่งสำคัญที่ส่งออกอาหารไปยังกัมพูชา เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนต่างชาติที่ขยายการลงทุนเข้าไปยังกัมพูชา เพื่อผลิตสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้นด้วย แต่ก็ยังนับว่า การขาดแคลนเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตสินค้าจำนวนมาก ประกอบกับความซับซ้อนของกระบวนการส่งออก ตลอดจนการขอรับรองมาตรฐานสากลของกัมพูชา เป็นเสมือนดาบสองที่ยังสร้างความท้าทายให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ที่จะสินใจก้าวไปสู่ตลาดกัมพูชา
ไทย จึงมีโอกาสรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ไว้ได้ แต่ต้องสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ในการเจาะตลาดและผลักดันการส่งออก อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในกัมพูชา การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย Thai Select การรุกประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงการขยายเข้าไปในตลาดค้าปลีก ซึ่งในอนาคตกัมพูชามีแผนจะจัดตั้งคอมมูดิตี้มอลล์ และห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปร่วมจัดกิจกรรมอินโตร์โปรโมชั่นร่วมกับห้าง เป็นต้น
หากผู้ประกอบการสนใจเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน ต้องศึกษากฎหมายด้านการลงทุน ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถถือหุ้นในธุรกิจได้ 100% เพราะอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่กัมพูชามีความต้องการการลงทุนจากต่างชาติอีกมาก