ภัยไซเบอร์ตัวการทำให้ธุรกิจประสบปัญหาระบบหยุดทำงานมากขึ้น


จากผลการศึกษา Asia Pacific CISO Benchmark Study ของซิสโก้ประจำปี 2562 มีแนวโน้มสำคัญอื่นๆ ที่พบจากผลการศึกษาดังนี้

29 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจในไทยประสบปัญหาระบบหยุดทำงานนาน 24 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น หลังการละเมิดความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รุนแรงที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และค่าเฉลี่ยสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ 23 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2561 ซึ่งในตอนนั้นมีองค์กรธุรกิจในไทยเพียงแค่ 11 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบปัญหา

เวลาหยุดทำงานที่ยาวนานย่อมส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ 35 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจในไทย ระบุว่าการละเมิดความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สำคัญที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายประมาณ 30 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์

ผลการศึกษานี้อ้างอิงการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเกือบ 2,000 คนทั่วภูมิภาค ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบุคลากรฝ่ายรักษาความปลอดภัยในไทยมีภาระด้านการรักษาความปลอดภัยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยผลการศึกษาระบุว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามรายงานว่าองค์กรของตนได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามมากกว่า 50,000 ครั้งต่อวัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ปัจจุบันจำนวนภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความท้าทายที่สำคัญจึงอยู่ที่การดำเนินการที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับการแจ้งเตือน เช่น มีการแจ้งเตือนกี่รายการที่ได้รับการตรวจสอบ และมีการแจ้งเตือนกี่รายที่พบว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และได้รับการแก้ไขในท้ายที่สุด

ข่าวดีก็คือ องค์กรธุรกิจในไทยมีการปรับปรุงที่ดีขึ้นในเรื่อง “จำนวนการแจ้งเตือนที่ได้รับการตรวจสอบ”

โดยผลการศึกษาชี้ว่า องค์กรธุรกิจในไทยดำเนินการตรวจสอบภัยคุกคาม 48 เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้นจาก 37 เปอร์เซ็นต์จากปี 2561) นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงดีขึ้นในส่วนของจำนวนการแจ้งเตือนที่ได้รับการแก้ไข โดยจากภัยคุกคามทั้งหมดที่ได้รับการตรวจสอบและพบว่าเกิดขึ้นจริง มี 43 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการแก้ไข (เพิ่มขึ้นจาก 37 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561) องค์กรธุรกิจในไทยมีการดำเนินการที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์

ผลการศึกษายังเน้นย้ำว่าการใช้เทคโนโลยีจากผู้ขายหลายรายจะก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นต่อบุคลากรฝ่ายรักษาความปลอดภัย โดยผลการศึกษาพบว่า 54 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจในไทยใช้เทคโนโลยีจากผู้ขายมากกว่า 10 ราย เปรียบเทียบกับ 39 เปอร์เซ็นต์จากทั่วโลก ตัวเลขดังกล่าวของไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งในตอนนั้นมีบริษัทเพียง 51 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้เทคโนโลยีจากผู้ขายมากกว่า 10 ราย

อุปสรรค 3 ข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงในไทย

– การขาดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสำหรับการรักษาความปลอดภัย (52 เปอร์เซ็นต์)

– การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ (37 เปอร์เซ็นต์)

– ปัญหาความเข้ากันได้ของระบบรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ (32 เปอร์เซ็นต์)

ส่วนเรื่องปัญหาข้อมูลรั่วไหลและการปรับปรุงที่ดำเนินการหลังจากที่เกิดปัญหา การปรับปรุงที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรธุรกิจของไทยคือ การเพิ่มทักษะและการฝึกอบรมเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่พนักงาน (48 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วย การสร้างระบบรักษาความปลอดภัยแบบอัตโนมัติ (46 เปอร์เซ็นต์) และการมุ่งเน้นเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น (46 เปอร์เซ็นต์)