3 มหานคร “โตเกียว-ปักกิ่ง-สิงคโปร์” แชมป์! ขนส่งสาธารณะรักษ์โลก


เมินความสะดวกสบาย! “โตเกียว-ปักกิ่ง-สิงคโปร์” ติดอันดับมหานคร ด้านการขนส่งสาธารณะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลก เหตุคนไม่นิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว

สื่อต่างประเทศรายงานข้อมูล ที่เปิดเผยโดยบริษัท Kantar (ธุรกิจให้คำปรึกษาทางการตลาดและการวิจัย) ระบุว่า 3 มหานครของเอเชีย คือ โตเกียว ปักกิ่ง และสิงคโปร์ เป็นเมืองชั้นนำที่ติดอันดับดีที่สุดในโลกด้านการขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่โซล เกาหลีใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเข้ามาในลำดับที่ 7

ข้อมูลนี้สรุปจากการสอบถามผู้คน 20,000 ใน 31 เมืองทั่วโลกเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงาน ซึ่ง โตเกียว ปักกิ่ง และสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ดีเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ไปทำงานด้วยการเดินหรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ มีคนจำนวนน้อยที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง

ขณะที่ 4 เมืองในยุโรปมี ลอนดอน (อังกฤษ) โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) และมอสโก (รัสเซีย) อยู่ใน 10 อันดับแรก ที่เหลือคือ ไนโรบี (เคนยา) และเซาเปาโล (บราซิล) ขณะที่สหรัฐฯ และพื้นที่ในส่วนของอเมริกาเหนือไม่มีเมืองติดอันดับ

ลอนดอนติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของยุโรปด้วยเครือข่ายรถไฟสาธารณะที่กว้างขวาง ขณะที่ อัมสเตอร์ดัมและโคเปนเฮเกน โดดเด่นในเรื่องการนิยมใช้การปั่นจักรยาน

Rolf Kullen ผู้อำนวยการอาวุโส Kantar กล่าวชื่นชมเมืองเหล่านี้ ระบุว่า แม้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับรถยนต์ แต่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางไปยังวิธีการขนส่งอื่นๆ

“ระบบขนส่งสาธารณะจะต้องขยายออกไปในเมืองต่างๆ ทั่วโลกเพื่อช่วยกำจัดรถยนต์ออกจากถนน และทำให้การเดินทางเป็นสีเขียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชานเมือง การลดจำนวนรถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญในการลดมลพิษทางอากาศในเมืองคือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คน” Kullen กล่าว

Jens Muller ผู้จัดการคุณภาพอากาศของกลุ่มรณรงค์เพื่อการขนส่งและสิ่งแวดล้อมในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กล่าวว่า เมืองชั้นนำทั้ง 10 แห่งในยุโรปมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือพยายามเอาคนออกจากเมืองให้มากที่สุด

“เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่ต้องการเดินทางด้วยรถยนต์ แต่ไม่สามารถเดินหรือขี่จักรยานไปทำงานได้ในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คน” Muller กล่าว

ทั้งนี้ รายงานจากสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนกำหนดปีละ 7 ล้านคน ถือเป็น “ปัญหาสิทธิมนุษยชน” และ “วิกฤตสุขภาพโลก” ซึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมหานครทั่วโลกในปัจจุบันคือโน้มน้าวจิตใจผู้คนให้ละทิ้งความสะดวกสบายของรถยนต์ แล้วหันมาเลือกการการเดินที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ที่มา : Reuters