ส่อง! แนวโน้มตลาดอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นกับโอกาสของ SME มีมากน้อยแค่ไหน


ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ถือว่าเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มความต้องการในตลาดญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

โดยในปี 2018 การผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่นจำนวนลดลง แต่การนำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งประเภทผัก และประเภทแปรรูปกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดูได้จากสถิติการเปรียบเทียบในปี 2009 ที่สัดส่วนปริมาณนำเข้าผักแช่แข็งอยู่ที่ร้อยละ 32.3 และอาหารแปรรูปแช่แข็งอยู่ที่ร้อยละ 8.5 รวมเป็นร้อยละ 40.8 หากเปรียบเทียบกับปี 2018 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45.2

สำหรับสินค้าผักแช่แข็งนำเข้า ในปี 2018 มีปริมาณทั้งสิน 1.05 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.95 แสนล้านเยน โดยสินค้านำเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ มันฝรั่ง, ถั่ว, บร็อคโคลี และข้าวโพด ส่วนกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปแช่แข็ง ประเภทอาหารทอด มีปริมาณนำเข้า 1.8 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.1 แสนล้านเยน ซึ่งร้อยละ 65 โดยปริมาณ และร้อยลพ 67 ของมูลค่า เป็นประเภทที่ใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบ เช่น หมูทอด, ไก่ทอด ฯลฯ เหล่านี้มีปริมาณ และมูลค่าสูงที่สุด

โดยผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารแช่แข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งจากการสำรวจของบริษัท Shogyokai Publishing พบว่าสินค้าอาหารแช่แข็งที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 5 อันดับแรกในร้านซุปเปอร์มาเกต ได้แก่ สปาเกตตี้พร้อมซอส, ไก่ทอด, ข้าวผัด, ก๋วยเตี๋ยวอุด้ง และเกี๊ยวซ่า ส่วนในร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ ข้าวผัด, สปาเกตตี้พร้อมซอส, ราเมง, อาหารปรุงสำเร็จพร้อมทานประเภทต่างๆ และ พิซซ่าญี่ปุ่น

ด้านผู้ประกอบการไทยหากอยากส่งอาหารแช่แข็งเข้าไปตีตลาดในญี่ปุ่นจำเป็นต้องศึกษาประเภทอาหารแช่แข็งที่จำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ในกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาหารญี่ปุ่นหรืออาหารไทย ที่ได้รับความนิยมอยู่ในหมู่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น รวมถึงต้องปรับรสชาติความเผ็ดให้เหมาะสมกับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น

อีกทั้ง หากผู้ประกอบการไทยสามารถใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะญี่ปุ่นมีความเข้มงวดในเรื่องการทิ้งขยะ และถ้าบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยสามารถย่อยสลายได้ก็จะกลายเป็นจุดเด่นสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, สตท. ณ เมืองฮิโรชิมา