แพทย์แนะนวด 7 จุด ช่วยลดความเครียด แก้ปวดศีรษะแบบไม่ต้องพึ่งยา


รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยความเครียดในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะคือปวดแบบตื้อๆ หนักๆ และ ปวดต้นคอ บ่าและไหล่ มักเป็นในช่วงบ่ายๆ แนะทางจัดการโดยใช้การนวดไทย กดเพียง 7 จุดจะช่วยบรรเทาหายเครียด รู้สึกโล่ง ไม่ต้องพึ่งยา ทำเองได้ทันที แต่ต้องระวัง ห้ามทำขณะมีไข้ กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นโรคผิวหนัง 

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบันหลีกเลี่ยงกับความเครียดได้ยาก ถึงแม้ว่าความเครียดยังไม่จัดว่าเป็นโรคก็ตาม แต่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายได้ ที่พบได้บ่อยคือปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งเนื่องมาจากผลของฮอร์โมนที่มีชื่อว่าคอร์ติซอล ( Cortisol) ที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด และยังมีผลต่อจิตใจและพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิทำสิ่งใด อารมณ์แปรปรวนง่าย จิตใจขุ่นมัว มีพฤติกรรมก้าวร้าวอาจตัดสินใจแบบชั่ววูบได้ อาการปวดศีรษะจากความเครียด มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

 

 

นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ลักษณะของอาการปวดจากความเครียด จะปวดแบบตื้อๆ หนักๆ ตรงบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ หรือบริเวณท้ายทอย บางรายอาจปวดรอบๆศีรษะคล้ายถูกเข็มขัดรัด บางรายอาจปวดตื้อไปทั้งหัว ส่วนมากมักจะปวดช่วงบ่ายๆหรือช่วงเย็น ไม่มีไข้ และไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ความเครียดที่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขและปล่อยไว้นาน สะสมไปเรื่อยๆ จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังอื่นๆ ตามมาได้เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล

 

 

ทางด้านนางสาววิภาวี ดลโสภณ แพทย์แผนไทยประยุกต์ หัวหน้าคลินิกแพทย์แผนไทย รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า วิธีจัดการกับอาการปวดที่เป็นผลมาจากความเครียดที่ได้ผลดีก็คือการนวดไทย แรงกดจากนิ้วจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง สบายขึ้น และลดอาการปวดต่างๆ ลง หายเครียด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่าและไหล่ สามารถทำได้เองและทำได้ทันทีเมื่อมีอาการ โดยมีเทคนิคการนวดเพื่อคลายเครียด 7 จุดหลักๆ ดังนี้

จุดที่ 1. จุดระหว่างคิ้ว โดยใช้ปลายนิ้วชี้ หรือนิ้วกลาง กด 3-5 ครั้ง

จุดที่ 2. จุดใต้หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง ใช้ปลายนิ้วชี้ หรือนิ้วกลาง กด 3-5 ครั้ง

จุดที่ 3. จุดที่ขอบกระดูกท้ายทอย แบ่งเป็น 3 จุด ในระนาบเดียวกัน ประกอบด้วยจุดกลาง ใช้นิ้วหัวแม่มือกด 3-5 ครั้ง จากนั้นให้ประสานมือบริเวณท้ายทอย แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง2 ข้างกดที่ 2 จุดด้านข้างที่เหลือ พร้อมๆกัน 3-5 ครั้ง

จุดที่ 4. ที่บริเวณต้นคอ โดยประสานมือที่บริเวณท้ายทอย แล้วใช้หัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง กดตามแนวข้างกระดูกต้นคอทั้ง 2  ข้าง โดยกดไล่จากตีนผมลงมาถึงบริเวณบ่า ทำ 3-5 ครั้ง

จุดที่ 5. ที่บริเวณบ่า ให้ใช้ปลายนิ้วมือข้างขวา บีบที่ไหล่ด้านซ้าย สลับกับใช้นิ้วมือข้างซ้ายบีบที่ไหล่ด้านขวา โดยให้บีบไล่จากบ่าเข้าหาต้นคอ 3-5 ครั้ง

จุดที่ 6. บริเวณบ่าด้านหน้า โดยใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวา กดที่จุด 3 จุด คือที่ใต้กระดูกไหปลาร้า จุดต้นแขนและจุดเหนือรักแร้ สลับกันทั้งด้านซ้ายและขวา ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

และจุดที่ 7. บริเวณบ่าด้านหลัง ซ้ายและขวา โดยใช้นิ้วมือที่ถนัดของมือขวาอ้อมไปกดที่จุดบนของกระดูกสะบัก ออกแรงกดที่บริเวณขอบสะบักข้างหลังซ้ายกดวนจากขอบสะบักด้านบนลงมาด้านล่างเป็นวงกลม และใช้มือข้างซ้ายกดที่จุดเดียวกันของบ่าข้างขวา ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง เช่นกัน

นางสาววิภาวี กล่าวต่อว่า เมื่อร่างกายเข้าสู่สภาวะผ่อนคลายก็จะกลับสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ หลักการนวดที่ถูกวิธีจะต้องใช้ปลายนิ้วที่ถนัดกดคือนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ หรือนิ้วกลาง การกดแต่ละครั้งใช้เวลานานประมาณ 10 วินาทีโดยค่อยๆ เพิ่มแรงกดขึ้นทีละน้อย เวลาปล่อยก็ให้นานกว่าเวลากดและค่อยๆผ่อนแรงกดเช่นกัน แต่ละจุดควรนวดซ้ำประมาณ 3-5 ครั้ง ควรฝึกทำให้เป็นทักษะเพื่อใช้ดูแลตัวเองในเบื้องต้น แต่ข้อควรระวังคือการนวด ห้ามนวดขณะมีไข้ กล้ามเนื้ออักเสบ หรือเป็นโรคผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้อาการลุกลามได้ 

 

 

ข้อมูลจาก : คลินิกแพทย์แผนไทย รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ

โทร 044-233999 ต่อ 65635 และ 06-1023-6886 ในวันเวลาราชการ