“ซองบุหรี่เรียบ” เห็นผลจริง ผลสำรวจชี้ เยาวชนเจอคำเตือนชัดเจนขึ้นไม่กล้าหยิบมาสูบ


หมอเผย! ซองบุหรี่แบบเรียบตัวใหม่ได้ผลจริง ผลสำรวจชี้เยาวชนเจอคำเตือนชัดเจนขึ้นไม่กล้าหยิบมาสูบ แถมลด “นักสูบหน้าใหม่”

หลังจากที่ประเทศไทย บังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้ “ซองบุหรี่” ของเมืองไทย จะต้องเป็น “ซองบุหรี่แบบเรียบ” และบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของทวีปเอเชียที่มีมาตรการดังกล่าวบังคับใช้กับซองบุหรี่ทุกยี่ห้อเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และยังเป็นประเทศที่ 11 ของโลกที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้

มาตรการดังกล่าวเป็นไปตาม “กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก” ซึ่งแนะนำให้ประเทศสมาชิกร่วมกันปฏิบัติตาม และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกเช่นกัน โดยเหตุผลสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายให้บริษัทบุหรี่ทุกยี่ห้อออกแบบซองบุหรี่แบบเรียบและเหมือนกันทั้งหมด ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการออกแบบซองบุหรี่ที่มีสีสัน หรือใช้เป็นพื้นที่โฆษณาเพื่อทำให้เห็นภาพว่า บุหรี่แต่ละยี่ห้อมีความปลอดภัย อันตรายน้อย อีกทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีภาพคำเตือนถึงพิษภัยของบุหรี่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่ายี่ห้อของบุหรี่เอง

 

 

สำนักข่าว hfocus อ้างอิงคำพูดของ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่ออกมาสนับสนุนมาตรการดังกล่าว โดยศ.นพ.รณชัย ให้เหตุผลจากการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนต่อซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งพบว่ากลุ่มนักสูบหน้าใหม่ หรือกลุ่มเยาวชนที่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาและนักศึกษาอุดมศึกษา อายุ 15-24 ปี จำนวน 1,239 คน

พบว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนเป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่แบบเรียบมากที่สุด โดยพบมีความมั่นใจไม่สูบบุหรี่เพิ่ม 13 เท่า ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนพบมีความมั่นใจที่จะไม่กลับไปสูบบุหรี่เพิ่มเกือบ 4 เท่า และซองบุหรี่แบบเรียบส่งผลให้วัยรุ่นประมาณ 2 ใน 3 ไม่อยากซื้อบุหรี่มากกว่าซองแบบเดิม และวัยรุ่นประมาณครึ่งหนึ่งเห็นอันตรายจากบุหรี่มากกว่าซองแบบเดิม

 

 

ดังนั้น จากผลการศึกษานี้ ทำให้มั่นใจว่ามาตรการซองบุหรี่เรียบเป็นอีกมาตรการที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะจะเสริมมาตรการอื่นๆ ในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ของประเทศไทย เช่น ห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาด และห้ามขายบุหรี่แบ่งขายแยกมวน