แหล่งน้ำจืดทั่วโลกวิกฤติ ตะไคร่น้ำมีพิษระบาดหนักเหตุภาวะโลกร้อน


ผลงานวิจัยใหม่ในวารสาร Nature เผย จากข้อมูลของ Nasa พบว่าปัจจุบันตะไคร่น้ำพิษ หรือที่เรียกว่า Algae Blooms เริ่มแพร่กระจายในแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ ของโลกมากขึ้นกว่าช่วง 30 ปีที่ผ่านมาอย่างมหาศาล คาดเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สารเคมีการเกษตร และการพัฒนาเมือง

ตะไคร่อันตรายนี้อยู่ในตระกูลสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรง เพราะเมื่อได้รับตะไคร่ชนิดนี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ชัก พูดไม่ชัด เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และมีไข้ รวมถึงปล่อยสารพิษที่ทำลายตับ ซึ่งนำไปสู่การเป็นอัมพาตทางเดินหายใจหรืออันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสุนัขหลายตัวป่วยตายหลังจากที่กินน้ำจากแหล่งน้ำที่มีตะไคร่น้ำชนิดนี้อีกด้วย

หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเสริมว่า ในช่วงฤดูร้อนการเติบโตของตะไคร่จะเพิ่มขึ้นจนครอบคลุมพื้นที่ 2 ใน 3 ของทะเลสาบ แต่จะลดลงเล็กน้อยเท่านั้นในฤดูกาลอื่น ๆ หมายความว่าสาหร่ายกำลังขยายวงกว้างขึ้นและเข้มข้นมากขึ้น

ในนอร์เวย์เองก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน อย่างในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สาหร่ายที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ต้องสูญเสียปลาแซลมอนในฟาร์มไปอย่างน้อย 8 ล้านตัวในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว เนื่องจากสาหร่ายติดกับเหงือกปลาทำให้พวกมันขาดอากาศจนตาย สูญรายได้ถึง 620 ล้านโครนนอร์เวย์ ทางฝั่งสกอตแลนด์เองก็เสียหายไม่แพ้กัน เพราะสาหร่ายชนิดนี้ได้ฆ่าปลาหลายพันตัวในทะเลสาบ Loch Fyne ใกล้กับชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์ด้วย

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ถึงแม้การก่อตัวของแพสาหร่ายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเฉพาะในบางช่วงของปี แต่ก็คาดว่าปัญหานี้คงจะไม่หายไปได้เองภายในอนาคตอันใกล้

ที่มาและภาพ : independent