รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
จากสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู ประเภทที่ไม่มีอาการชักเกร็งมากถึง 650,000 คน แต่ได้รับการรักษาน้อยเพียง 1 ใน 10 ของประชากรทั้งประเทศ
ถือได้ว่าโรคนี้กำลังเป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีอาการเบลอ เหม่อลอย ตาค้าง วูบบ่อย โดยอาการเหล่านี้ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักหรือลมบ้าหมูแบบไม่ทันตั้งตัวได้ หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้มีอาการลักษณะนี้บ่อยๆ อาจส่งผลให้เป็นโรคสมองเสื่อมไวและส่งผลให้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชซ้ำซ้อนตามมาได้ถึงร้อยละ 30
แพทย์ด้านสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคลมชัก หรือ Epilepsy หรือที่คนไทยเรียกว่า ลมบ้าหมู จัดเป็นโรคของการเจ็บป่วยทางสมอง พบได้ทุกเพศทุกวัย นอกจากพบในผู้ป่วยที่มีบกพร่องทางสติปัญญาโรคออทิสติกแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนที่มีร่างกายแข็งแรงได้อีกด้วย โดยสาเหตุหลักนั้นเกิดจากเซลล์สมองที่มีนับล้านเซลล์ที่ทำงานเชื่อมโยงกันเหมือนวงจรไฟฟ้าและปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน
จึงส่งผลให้การควบคุมการทำงานของสมองเสียไปชั่วขณะ ซึ่งโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากกรรมพันธุ์ ติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน ดื่มสุรา อุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง หรือเซลล์สมองอยู่ผิดที่ หรือมีเนื้องอกในสมอง
โดยสถิติทั่วโลก มักพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50 ล้านคน โดย 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย ส่วนในประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 1 หรือมีประมาณ 650,000 คน ทั่วประเทศ แต่สถิติการเข้ารับการรักษาพบว่ามีน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 โดยข้อมูลในปี 2558 มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน 79,385 คน เป็นชาย 49,100 คน หญิง 30,285 คน
อาการของโรคลมชัก แบ่งเป็น 2 ลักษณะอาการ
1.อาการชักกระตุกเกร็งไปทั้งตัวคล้ายกับลมบ้าหมู ลักษณะการชักแบบนี้จะเห็นได้ชัดเจน คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและรู้จักว่าโรคลมบ้าหมู
2. อยู่ดีๆ ก็มีอาการแบบเบลอๆ เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัวหรือที่เรียกว่า “อาการวูบไปชั่วขณะ” อาจมีตาค้างหรือตาเหลือกด้วยก็ได้ ส่วนมากมักพบในเด็กอายุ 6-14 ปี อาการของโรคลมชักชนิดนี้ คนไทยยังรู้จักน้อยมาก และมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการวูบหรือเป็นลมทั่วไป จึงไม่ไปรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ดังนั้น หากมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นใน 2 ลักษณะอาการ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการชักให้เร็วที่สุดและให้การรักษาตามสาเหตุ
อาการชักเกิดจากคลื่นสมองผิดปกติทั่วไป จะให้การรักษาด้วยยา เพื่อควบคุมอาการชัก โดยปรับกระแสไฟฟ้าในสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ป้องกันเซลล์สมองถูกทำลาย หากเกิดจากเนื้องอกในสมอง อาจใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
หากผู้ที่มีอาการชักได้รับการรักษาเร็ว โดยเฉพาะหลังจากมีอาการครั้งแรก จะมีโอกาสหายขาดได้สูง และสามารถกลับมาเรียนหนังสือ หรือทำงานได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการชักบ่อย บางรายอาจเกิดเป็นชุดๆ หรือเกิดตลอดวันก็ได้ จะมีผลเสียที่เป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะการชักแบบลมบ้าหมู อาจทำให้เซลล์สมองตาย และทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ร้อยละ 30 ส่งผลทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาได้
ซึ่งถือเป็นภัยเงียบแบบไม่ทันตั้งตัว การรักษาโรคลมชัก ผู้ป่วยจะต้องยึดหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ การรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเอง และไม่ลดจำนวนยาเอง ต้องใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะควบคุมอาการชักที่ได้ผลดี โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับลดหรือหยุดยาให้เอง โดยผู้ป่วยประมาณกว่าร้อยละ 70 จะมีโอกาสหายขาดได้ ส่วนอีกร้อยละ 30 มีอาการดีขึ้น แม้ไม่หายชักทั้งหมดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป 2-3 เท่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีอาการชัก ประชาชนผู้ที่พบเห็น ต้องตั้งสติให้ดี ระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการชัก ไม่สำลักน้ำลายหรืออาหาร โดยให้จับศีรษะและลำตัวตะแคงไปด้านข้าง และดูแลไม่ให้มีสิ่งของที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยมากระทบกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น กาน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นของแข็ง เพื่อไม่ให้แขนขาของผู้ป่วยมากระแทก หากเป็นไปได้ ให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของอาการชักที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อนำไปให้แพทย์วินิจฉัยแยกอาการชักจากโรคลมชักกับโรคอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือแพทย์ในการวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาได้อีกด้วย
อ้างอิง: โรงพยาบาลพระรามเก้า