ลดความเสี่ยงธุรกิจเจ๊ง ด้วย MVP ตัวทดลองที่ช่วยให้เรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้งาน


คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน มักจะดูถูกความยากลำบากของการประสบความสำเร็จ ด้วยการมี Mindset ที่ว่า ไม่ว่าคุณจะขายสิ่งไหน มันก็จะมีคนใช้บริการ หรือเข้ามาซื้อแน่นอน คนส่วนใหญ่มักจะคิดเข้าข้างตัวเอง มองภาพในสิ่งที่สวยหรูเกินความเป็นจริง โดยคิดว่า ทำไปก็มีคนใช้ มีคนซื้อ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ความมโนของตัวคุณ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ได้

ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ล่ะ? คุณเองจะต้องสูญเสียอะไรบ้าง การทำธุรกิจสักตัวไม่ใช่เรื่องล้อเล่น มันมีต้นทุนมากมายที่คุณต้องยอมรับและสูญเสียเพื่อแลกกับความสำเร็จในอนาคต ทั้งเรื่องของเวลา และเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ดังนั้นก่อนจะเริ่มทำธุรกิจใดก็ตาม มาลดโอกาสของความเสี่ยงที่จะเจ๊ง ด้วยกลยุทธ์ทดลองตลาดแบบ MVP ก่อนดีที่สุด

MVP คืออะไร

MVP สำหรับวงการธุรกิจแล้วหมายถึง Minimum Viable Product เป็นการผลิตสินค้าออกมาแบบมินิมอลที่สุด แต่ยังคงสามารถตอบโจทย์ได้ในสิ่งที่คุณต้องการขายเป็นหลักอยู่ ซึ่งการทำผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เสร็จดีออกมาให้ตลาดลองนี้ เป็นเหมือนการขอความคิดเห็นจากเหล่ากลุ่มเป้าหมายในอนาคตว่า ถ้ามีสินค้าแบบนี้เกิดขึ้นจริง แต่ดีกว่านี้หลายเท่า คุณจะใช้บริการกันหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น คุณมีความฝันอยากจะเปิดโรงงานผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่ การเริ่มต้นของธุรกิจคุณด้วย MVP ไม่ใช่การสร้างล้อ แล้วประกอบตู้คอนเทนเนอร์ จากนั้นค่อยผลิตหัวรถลาก แต่มันเป็นการเริ่มต้นมาจากผลิตรถขนดินขนาดเล็ก และพัฒนาสู่รถกระบะ จากนั้นขยับไซส์ไปเป็นรถตู้ แล้วจึงออกมาสู่รถบรรทุกขนาดยักษ์แบบที่ฝันไว้ตอนแรก
เพราะการทำแบบนี้คุณจะรู้ได้ทันทีว่ามีผู้รอใช้บริการคุณมากน้อยแค่ไหน ด้วยการลงทุนเพียงนิดเดียว

ประโยชน์มหาศาลด้วยการลองตลาดแบบ MVP

1. ลงทุนน้อย แต่ได้รู้ความต้องการมหาศาล

การทำ MVP นั้นคือการสร้างฟีเจอร์ให้น้อยที่สุดแต่ตอบโจทย์หน้าที่หลักมากที่สุด เพื่อให้ตลาดได้ใช้งาน ซึ่งมันจะทำให้คุณลงทุนแค่นิดเดียว แต่สามารถได้ฟีดแบคมหาศาลกลับมา ทำให้ไม่ต้องลงทุนเวลาเยอะ หรือเงินจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่ทำมาแล้วคนจะไม่ใช้งานนั่นเอง

2. ได้รับฟีดแบคกลับมาพัฒนา

สำหรับฟีดแบคของผู้ทำธุรกิจแล้ว นับเป็นสิ่งล้ำค่าที่จะช่วยปรับปรุงพัฒนาธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่ง MVP จะช่วยให้รู้ได้ว่าสินค้าคุณเวิร์คหรือไม่ ต้องพัฒนาตรงไหนต่อไป และใส่ฟีเจอร์ใดเพิ่มเติมให้ตรงกับที่ลูกค้าต้องการ

3. มองเห็นภาพรวมของสินค้าในอนาคตชัดเจน

สุดท้ายแล้วการทำ MVP จะช่วยให้เห็นอนาคตของสินค้าได้เลยว่า จะมีผู้ใช้งานมากน้อยแค่ไหน จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และยังสามารถนำผลลัพธ์ตรงนี้กลับไปพัฒนาต่อไป หรือนำไปเสนอขายนักลงทุนให้เห็นภาพอย่างชัดเจนด้วยได้เช่นกัน

MVP ที่ดีต้องออกแบบมาให้ใช้งานได้จริง

แต่การลดต้นทุนการผลิตเพื่อวัดผลลัพธ์ของการใช้งานอย่างเดียวนั้น บางคนอาจลดมากเกินไป จนประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายควรจะได้ มันไม่ได้แสดงออกมา ซึ่งกลายเป็นไม่ได้อะไรกลับไป บางทีคุณอาจมีคนรอใช้บริการอยู่จริง แต่เพราะวิธีการนำเสนอที่ผิดและสื่อไปไม่ถึง ทำให้ผู้ใช้เหล่านั้นรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คุณต้องเรียนรู้ว่าหลัก

การนำเสนอ MVP สักตัวควรมีอะไรบ้าง

1. มีฟังก์ชั่นหลักครบถ้วนตามที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งต้องใช้งานได้จริง เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานที่เปรียบเสมือน Core ของธุรกิจคุณ

2. ฟังก์ชั่นต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่เพียงพอ และตอบโจทย์ได้ตามที่คุณคาดหวังเอาไว้ แบบเดียวกับตอนที่ผลิตภัณฑ์เสร็จสิ้นในขั้นตอนสุดท้าย

3. มีช่องว่างให้ MVP สามารถพัฒนาขึ้นมากลายเป็นสินค้าตัวจริง และพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ต่อไปได้จากตัวเดิม เพื่อยังคงความรู้สึกแบบเดิม และตอบโจทย์ได้เหมือนอย่างที่ลูกค้าเคยทดลองใช้นั่นเอง