ทุกวันนี้ใครหลายคนเริ่มมีการบ่นถึงสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้าแม่ค้าที่ยอดการขายสินค้าลดลง มนุษย์เงินเดือนที่รู้สึกได้ว่าค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ที่มีอยู่ และยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่คนในสังคมต้องเผชิญ
ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ได้นำข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำการสำรวจครัวเรือนไทยจำนวน 40,000 ราย ในทุก ๆ 2 ปี ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 5 ข้อค้นพบที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
1.รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 สวนทางกับ GDP ที่ยังเติบโต
จากข้อมูลพบว่า ช่วงครึ่งปีแรก 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 26,371 บาท ลดลงจากปี 2560 ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 26,946 บาท อยู่ -2.1% ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้รายได้ของครัวเรือนไทยมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
ทั้งนี้ รายได้ครัวเรือนไทยที่ลดลงนั้นสวนทางกับ nominal GDP ที่เติบโตขึ้น 7.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน
2.การใช้จ่ายของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาท ลดลง -0.9% จากปี 2560 ที่มีการใช้จ่ายต่อครัวเรือนอยู่ที่ 21,437 บาท โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี
สำหรับค่าใช้จ่ายที่ลดลงมีสาเหตุมาจากความกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ, ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือนไทยมีการลดค่าใช้จ่ายในหลายหมวด โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ,ความบันเทิง และการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนไทยยังคงมีการเพิ่มรายจ่ายในสินค้าบางรายการ เช่น ค่าที่อยู่อาศัย, เครื่องแต่งกาย, ของใช้/บริการส่วนบุคคล และรายจ่ายด้านการสื่อสารที่เป็นรายได้หลักไม่เคยลดการใช้จ่ายลงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
3.ครัวเรือนไทยมีหนี้มากขึ้น
ในปัจจุบันครัวเรือนไทยมีภาระหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีภาระนี้เฉลี่ย 353,210 บาทต่อครัวเรือน ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มจาก 96.1% ขึ้นมาเป็น 97.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติการณ์
เมื่อลงรายละเอียดการก่อหนี้ในแต่ละวัตถุประสงค์ มีดังต่อไปนี้
- การก่อหนี้บ้าน จากเดิมในปี 2560 มีหนี้เฉลี่ย 128,287 บาทต่อครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีหนี้เฉลี่ย 135,312 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.5%
- การก่อหนี้เพื่อการบริโภค (รวมหนี้รถยนต์) จากเดิมในปี 2560 มีหนี้เฉลี่ย 137,678 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 139,904 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 1.0 โดยหนี้เพื่อการบริโภคถือว่าเป็นหนี้ที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
- การก่อหนี้เพื่อการเกษตร จากเดิมในปี 2560 มีหนี้เฉลี่ย 49,273 บาทต่อครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ 51,574 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.7%
- การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจนอกภาคเกษตร ลดลงจากปี 2560 ที่มีหนี้ 30,120 บาทต่อครัวเรือน เหลือ 29,478 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน
4.ครัวเรือนไทยมีเงินเก็บออมลดลง
ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ครัวเรือนไทยมีการออมเงินอยู่ที่ 1,677 บาทต่อเดือน ลดลง 2.4% จากปี 2560 ที่มีการออมอยู่ที่ 1,718 บาทต่อเดือน อีกจุดที่น่าสังเกต คือครัวเรือนไทยมีการออมลดลงมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งอัตราการออมเมื่อคำนวณจากสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งปีแรก 2562 อยู่ที่ 6.4% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552
5.เงินช่วยเหลือจากภาครัฐฯ มีบทบาทมากขึ้นในการประคับประคองครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังจำเป็นต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งกลุ่มที่ต้องการมากที่สุด คือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน โดยเงินช่วยเหลือจากรัฐที่ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 813 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 11.6% ต่อรายได้ทั้งหมด
ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี)