หลายคนคงคิดเหมือนกันว่า ก่อนจะ “รวย” ต้องมีเงิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่บรรดาคนรวยทั้งหลายทั้งในและต่างประเทศ พวกเขาไม่ได้เริ่มจากการมีเงินอยู่ก่อนแล้ว แต่พวกเขาเริ่มต้นจากการหามาด้วยตัวเอง แต่พวกเขาจะมีนิสัยทางการเงินที่แตกต่างไปจากพวกเรา ซึ่งนิสัยเหล่านี้ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่คุณหรือใครก็ทำได้
7 นิสัยทางการเงินที่ดี
1. ทำใจให้เต็มโดยไม่ต้องใช้เงินเติม
จริงอยู่ที่คนเราจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองมีความสุข แต่ถ้าสิ่งที่ทำไม่สามารถถมใจให้เต็ม หรือไม่สามารถทำให้มีความสุขจากภายในได้ เราก็มักจะต้องใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือบริการ มาเติมเต็มอยู่ร่ำไปเมื่อเงินหมดความสุขก็หายไปด้วย
ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือ ทำใจให้เต็มโดยไม่ต้องใช้เงินเติม ทำตัวเองให้มีความสุขจากข้างใน ทำตัวเองให้มีความสุข ไม่ต้องเอาตัวเราไปแขวนไว้กับสิ่งของหรือการตอบสนองของคนอื่น ถ้าทำได้แบบนี้เราก็จะมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงินมากมาย ทำให้เรามีเงินเก็บเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น
2. มีวินัยต่อตนเอง
การมีวินัยกับตัวเองในเรื่องอื่น ๆ จะเสริมให้เรามีวินัยเรื่องการเงินเพิ่มขึ้น ถ้าเรารักษาสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองและคนอื่นได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่น ตื่นเช้าทุกวัน ไปตรงตามเวลานัด ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะมีวินัยเรื่องการเงิน เพราะเราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง
3. ตั้งเป้าหมาย
คนที่มีเงินเก็บเงินหลักล้านหรือคนที่มีธุรกิจร้อยล้านในช่วงที่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่ทุกคนมีเป้าหมาย เพราะการตั้งเป้าจะทำให้เราสามารถเขียนแผนออกมาได้ เป้าหมายยิ่งชัดแผนก็ยิ่งละเอียด เมื่อแผนละเอียดเราก็สามารถทำตามแผนได้ง่าย สุดท้ายแม้ว่าเราจะไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่เราก็จะได้อยู่ท่ามกลางดวงดาว
4. ไม่มี ไม่ยืม ไม่ผ่อน
เมื่อไม่มีเงิน ถ้าไม่มีความรู้เรื่องการเงิน ก็ไม่ควรยืม หรือผ่อนจ่าย โดยเฉพาะเพื่อซื้อหาในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ หากเราเป็นหนี้นอกจากเราจะต้องคืนเงินต้นแล้ว ลองคำนวณดอกเบี้ยดูเผลอ ๆ มันอาจจะมากกว่าเงินที่เราไปยืมเขามาก็ได้
5. รู้จักออมตั้งแต่ยังมีเงินน้อย
การออมเงินไม่จำเป็นต้องรอให้มีเยอะก่อนแล้วค่อยออม เพราะคนที่จะดูแลอาณาจักรได้ดีต้องดูแลบ้านของตัวเองให้ดีก่อน ส่วนคนที่จะดูแลบ้านได้ดีก็ต้องดูแลห้องของตัวเองให้ดีก่อนเช่นกัน เริ่มจากการเก็บเงินจำนวนน้อย ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ มันก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้นมาได้
6. โฟกัสกับการสร้างเงิน
คนที่มีเงินมาก การออมนั้นสำคัญเพราะทำให้เขามีเงินก้อน แต่เงินที่เพิ่มทวีคูณขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่มาจากการลงทุน หรือการสร้างรายได้ที่เรียกว่า Passive Income นั่นเอง การใช้เงินให้ไปทำงานแทนนั้นดีว่าการเก็บเอาไว้เฉย ๆ ในบัญชีเงินฝาก
7. ใช้เงินในสิ่งที่ควรใช้
แต่สำหรับเรื่องของเวลาและสุขภาพ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สมควรจ่าย อย่างเช่นการใช้เงินซื้อเวลาให้ได้เดินทางกลับบ้านเร็วขึ้น ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หรือใช้จ่ายในการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เรามีพลังในการสร้างเงินต่อไป
ด้วยการปรับนิสัยทางการเงินง่าย ๆ แบบนี้ เชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ ลองทำตามกันดูสักหนึ่งปี แล้วปีหน้ามาดูกันว่า เงินของเรามันจะงอกเงยขึ้นมาอย่างที่วางแผนเอาไว้หรือเปล่า
อ้างอิง: ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาพัฒนาสมอง