เชื่อว่าคนที่ทำธุรกิจมานานมักจะได้เจอกับผู้สมัครงานที่จบไม่ตรงสาย แต่อยากจะทำงานกับคุณไม่น้อย บางคนจบบัญชี แต่มาสมัครกราฟิก หรือบางคนจบการตลาด แต่มาสมัครคอนเทนต์ ซึ่งการย้ายสายงานมันมีให้เห็นได้ตลอดในวงการธุรกิจ เพียงแต่ว่าคุณเองจะมองเรื่องนี้ยังไงมากกว่า
บางคนมองว่าต้องจบตรงสายเท่านั้นถึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องสอนงานเยอะ เก่งได้เลย ช่วยงานได้ทันที ซึ่งนั่นก็ไม่ผิด เพียงแต่มันอาจเป็นการปิดกั้นเกินไป จนทำให้คุณพลาดคนที่มีฝีมือดีไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งไม่แน่ว่าถ้าคุณรับคนที่จบไม่ตรงสายเข้ามา แล้วเขาทำงานได้เก่ง ช่วยงานคุณได้จริง คุณอาจจะได้คนที่มี Multiple Skills มาไว้ในครอบครองเลยก็ได้ ซึ่งเป็นคนที่มีทักษะหลากหลายแบบที่ทุกองค์กรต้องการ
ดังนั้นก่อนจะปฏิเสธคนจบไม่ตรงสายไป ขอให้คุณพิจารณาใหม่ โดยอิงจาก 5 ข้อนี้เป็นหลัก ถ้ามีครบเมื่อไหร่ ต่อให้ไม่ตรงสายก็ควรรับเข้าทำงานกับคุณ
1. มีเหตุผลในการย้ายสายงานที่ดี
การที่อยู่ ๆ คนคนหนึ่งจะสามารถตัดสินใจย้ายสายงานมาทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด หรือไม่มีความรู้จริงๆ ได้นั้นเป็นเรื่องยาก นอกเสียจากว่าจะหนีความไม่เก่งในสายงานเก่าของตัวเอง เพื่อมาหวังพึ่งพาการทำงานที่สบายและไม่ต้องใช้ทักษะมากกว่า ซึ่งถ้าคุณถามหาเหตุผลในการย้ายสายงาน แล้วผู้สมัครมีคำตอบรองรับที่ดี มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เช่น ชอบในสายงานใหม่มากกว่า มีประสบการณ์มากกว่า เคยทำนู่นทำนี่มาก่อน ก็นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่ไม่ควรปิดกั้น
2. มีใบรับรอง หรือผลงานความสำเร็จต่าง ๆ ของสายงานใหม่
คนบางคนอาจจะค้นพบตัวเองช้าไป แต่เมื่อเขาค้นพบแล้ว กลับกลายเป็นว่าเขาทำมันได้ดีกว่าสิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิตเสียอีก ซึ่งใบรับรองต่าง ๆ Certificate มากมาย และรางวัลความสำเร็จ ช่วยยืนยันสิ่งนั้นได้ดีที่สุด ต่อให้ผู้สมัครจะย้ายสายงานมาจากส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับงานปัจจุบันเลย แต่ถ้าเขามีหลักฐานรองรับว่าเขาเก่งในสายงานใหม่ที่คุณกำลังต้องการจริงๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะกีดกันไม่ให้เขาได้ร่วมงานกับคุณ
3. มีประสบการณ์เคยผ่านสายงานใหม่มาก่อน
อย่าตัดสินว่าคนที่ไม่จบตรงสายงาน เป็นคนที่ทำงานนั้นไม่ได้ เพราะทุกวันนี้โลกของเราเปิดกว้างมาก ทุกทักษะสามารถเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ได้แทบจะทั้งหมด ดังนั้นทุกคนสามารถเข้าถึงทักษะที่ตัวเองต้องการได้ แม้จะไม่ได้จบมาจากจุดนั้นโดยตรง ซึ่งผู้สมัครที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับสายงานใหม่จะช่วยให้คุณมั่นใจได้มากขึ้นว่า ถึงแม้จะจบไม่ตรง แต่เขาสามารถช่วยคุณได้แน่นอน ประสบการณ์ตรงนี้อาจจะมาจากที่ทำงานเก่าของเขา หรือจากกิจกรรมที่เขาเคยทำมาก่อนก็ได้
4. พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
คนที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอจะไม่จมปลักอยู่กับชุดความรู้เดิม ๆ นั่นหมายความว่า ต่อให้เขาไม่ได้จบตรงสาย เขาก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แถมยังเก่งเสียด้วย แต่คุณจะรู้ได้ยังไงว่าใครที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ยากเลย เพียงสัมภาษณ์ไปตามปกติถึงประสบการณ์ที่เขาเคยผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ การต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และการฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งถ้าพนักงานคนนั้นมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้จริง ก็ควรรับไว้พิจารณาแม้จะคนละสายงานก็ตาม
5. เตรียมตัวมาดี พร้อมทำงานกับคุณทันที
สิ่งสำคัญนอกจากความสามารถในการทำงานแล้ว การเข้ากันดีกับองค์กรเองก็เป็นสิ่งที่คุณต้องให้ความสนใจ ซึ่งถ้าพนักงานที่คุณกำลังสัมภาษณ์ได้แสดงให้เห็นว่าเขาเตรียมตัวมาดี รู้ว่าคุณทำอะไร องค์กรของคุณเดินหน้าแบบไหน และเขาเข้ากับองค์กรณ์และวัฒนธรรมของคุณได้ทันที นี่ก็เป็นจุดที่คุณควรให้คะแนนกับเขา
ถึงแม้จะทำงานไม่ตรงสาย แต่การเข้ากันได้เหล่านี้จะช่วยให้การทำงานลื่นขึ้น แต่อย่าลืมว่าเขาต้องมีทักษะที่คุณต้องการอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน