การที่คุณจะรับผู้สมัครคนไหนเข้ามาสักคนนั้น มีจุดที่ต้องสังเกตมากมายว่าเขาจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรของคุณจริง และคุ้มค่ากับค่าจ้างรายเดือนที่คุณจะต้องเสียไป แต่บางครั้งคุณอาจจะมองแค่ภาพรวมขนาดใหญ่ เช่น ฝีมือ ประสบการณ์ การทำงานที่ผ่านมา แต่ลืมมองถึงจุดเล็กๆ น้อยๆ ทั้ง 5 จุดนี้ว่า ผู้สมัครตรงหน้า อาจไม่ใช่คนที่เหมาะสมกับองค์กรของคุณที่สุด
ซึ่งนี่คือ 5 สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้จะช่วยชี้ให้เห็นความบกพร่องของผู้สมัครสักคนได้ ว่าคนแบบไหนที่ไม่ควรร่วมงานด้วย
1. ไม่มีความเป็นมืออาชีพ
ความไม่เป็นมืออาชีพสามารถแสดงออกมาได้หลากหลายกรณี ตั้งแต่กรณีเล็ก ๆ ไปจนกรณีใหญ่ ๆ เช่น การมาสัมภาษณ์งานสาย ทั้ง ๆ ที่เป็นการพบกันครั้งแรกและครั้งสำคัญแต่ก็ยังไม่รักษาเวลา หรือแม้แต่การพาคนอื่นไปรอระหว่างการสัมภาษณ์ด้วย เช่น พาแฟน พาเพื่อน เข้าไปนั่งรอในตัวบริษัท ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้สมัครขาดความกล้า ขาดการรู้จักกาลเทศะ และไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองคนเดียว
2. โกหก ให้ข้อมูลเท็จ ตั้งแต่เจอหน้า
วันสัมภาษณ์เป็นวันที่เราจะต้องเจอหน้ากับผู้สมัครเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าในวันแรกเขายังกล้าโกหกกับคุณ นั่นหมายความว่าวันต่อ ๆ ไปในการทำงาน เขาก็สามารถโกหกมากกว่านี้ได้แน่นอนแบบไม่ลังเล ซึ่งแน่นอนว่าการโกหกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ควรทั้งสิ้น โดยเฉพาะการโกหกเพื่อให้ตัวเองดูดียิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ดังนั้นการถามรายละเอียดแบบเจาะจงระหว่างสัมภาษณ์จึงสำคัญ เพื่อล้วงข้อมูลที่คุณต้องการรู้ และเบื้องหลังของผู้สมัครให้ออกมามากที่สุด
3. ทัศนคติไม่ดี มีอีโก้สูงเกินไป
สำหรับคนที่มีประสบการณ์มาก มีความมั่นใจในตัวเองเยอะ จบมหาวิทยาลัยดัง ๆ ดี ๆ หรือมีเกียรตินิยมพ่วงท้าย อาจทำให้พวกเขามีตัวเลือกที่มากขึ้น ซึ่ง “บางคน” อาจแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในด้านทัศนคติ การทำงาน ออกมาให้เห็นระหว่างการสัมภาษณ์ เช่น ตอบคำถามแบบมองคนอื่นด้อยกว่า ต่ำกว่า ตัวเองอยู่เหนือกว่าทุกคน เพราะความที่ประกาศนียบัตร และประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นหลักฐานที่ช่วยหนุนหลังเขา ซึ่งคุณอาจจะได้รับคนที่เก่งจริงเข้ามาทำงาน แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นการมาถึงของปัญหาที่จะเกิดกับพนักงานในองค์กรด้วยเช่นกัน
เนื่องจากการทำงานนั้นต้องทำกันหลายคน ต้องทำกันเป็นทีม ถ้าคนคนนั้นเก่งจริง แต่ไม่สามารถเข้ากับคนอื่นในองค์กรได้ ก็ไม่ควรสนับสนุนให้ผ่านการสัมภาษณ์นั่นเอง
4. ขาดทักษะในการแก้ปัญหา
เพราะปัญหาในการทำงานนั้นมีมากมายหลากหลายเรื่อง ซึ่งในแต่ละวันพนักงานอาจต้องเจอกับเรื่องราวที่คาดไม่ถึงเต็มไปหมด ดังนั้นทักษะนี้จึงสำคัญ ซึ่งคุณสามารถทดสอบได้ด้วยการลิสต์คำถามที่คุณเจออยู่บ่อย ๆ ในการทำงานขององค์กรคุณ เพื่อทดสอบไหวพริบ ทักษะจุดนี้ของเขา ซึ่งคนคนนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ให้ดูได้ง่าย ๆ เลยว่า เขาสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างสร้างสรรค์แค่ไหน บางครั้งคำตอบที่ได้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่ขอแค่เขามีทัศนคติต่อการแก้ไขปัญหาที่ดี และรู้ว่าการแก้ไขนั้นจำเป็นต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ เท่านี้ก็นับว่าสอบผ่าน
5. มีจุดอ่อนมากเกินไป
จุดอ่อนของผู้สมัครสักคน คุณสามารถรู้ได้ด้วยการให้เขาบอกถึงข้อเสียของตัวเองมา ซึ่งถ้าผู้สมัครคนนั้นบอกเล่าจุดอ่อนของตัวเองออกมาอย่างมากมายสารพัด นั่นยิ่งเน้นให้เห็นชัดเจนแล้วว่า เขาอาจไม่เหมาะกับคุณ ซึ่งมันเป็นเรื่องดีที่เขาไม่โกหก แต่ก็เป็นเรื่องแย่สำหรับคุณเช่นกันถ้าต้องรับคนที่มีข้อเสียเยอะแยะมากมายเข้ามาร่วมองค์กร
ดังนั้นบางคนอาจจะโกหกคุณในข้อนี้ แต่คุณยังสามารถจับผิดข้อเสียของเขาต่าง ๆ ได้ด้วยการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเรซูเม่ และประวัติการทำงาน รวมถึงทัศนคติต่างๆ เพื่อดูว่าเขามีมุมมองเป็นยังไง และมีจุดอ่อนอะไรบ้าง