เทรนด์อาหารเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่ต้องจับมองมอง
ภาพรวมตลาดร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภค และบริโภคในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 6.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019 โดยห้าง Whole Foods Market ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าอุปโภค และบริโภครายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้เก็บข้อมูลการเลือกซื้อสินค้า และคาดการณ์เทรนด์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มของชาวอเมริกาในปี 2020 ดังต่อไปนี้
1.สินค้าการเกษตรแบบอนุรักษ์
ด้วยกระแสรักษ์โลกในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มต่างเร่งผลิตสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงทำให้การทำเกษตรแบบอนุรักษ์ธรรมชาติกลายเป็นสินค้าทางเลือกสำหรับผู้บริโภค เช่น ขนมกัมมี่เสริมวิตามิน B12 ของแบรนด์ MegaFood ที่ทำจากเกษตรอินทรี เนื้อวัวบดแบรนด์ White Oak Pasture จากวัวที่เลี้ยงด้วยหญ้า
2.สินค้าแป้งจากพืชประเภทอื่น
ผู้บริโภคชาวอเมริกาหันมาสนใจทำขนมเพื่อรับประทานเองมากขึ้น และสนใจที่จะบริโภคสินค้าแป้งเพื่อนำไปประกอบอาหารชนิดใหม่ ๆ เพื่อต้องการตอบสนองความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ เห็นได้จากชั้นวางจำหน่ายสินค้าแป้งที่มีแป้งชนิดใหม่ ๆ ผลิตจากผัก และผลไม้แปลก ๆ หรือแป้งผสมธัญพืชเพื่อเพิ่มโปรตีน และเส้นใยอาหารออกวางจำหน่ายมากขึ้น
3.สินค้าอาหารจากแอฟริกาตะวันตก
กระแสความนิยมของอาหารแถบแอฟริกาตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกามากขึ้น เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงยังมีรสชาติจัดจ้านถูกปากผู้บริโภค จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเทรนด์ที่มีความน่าสนใจ
4.สินค้าอาหารทานเล่นพร้อมรับประทาน
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกามีความสนใจบริโภคสินค้าที่อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตและไลฟ์สไตล์ ประกอบกับความต้องการอาหารสดใหม่ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้น อาหารกลุ่มของทานเล่น และขนมขบเคี้ยวแบบปรุงสุกใหม่ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย จึงมีแนวโน้มได้รับความนิยมในกลุ่มของผู้บริโภคมากขึ้น
5.สินค้าโปรตีนจากพืชนอกเหนือจากถั่วเหลือง
ผู้บริโภคชาวอเมริกาบางส่วนมีแนวโน้มแสวงหาพืชทดแทนโปรตีนจากถั่วเหลือง ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าทดแทนจากพืชประเภทอื่นวางจำหน่ายแล้ว เช่น โปรตีนจากถั่วเขียว, โปรตีนจากเมล็ดกัญชง, โปรตีนจากฟักทอง, โปรตีนจากอโวคาโด และโปรตีนจากเมล็ดแตงโม เป็นต้น
6.สินค้าเนย และแซนวิชสเปรต
ด้วยกระแสเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค จึงเกิดการผสมผสานเป็นสินค้าอาหารแปลกใหม่ขึ้นมาจากเดิมที่มีอยู่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพ, ผู้บริโภคอาหารแบบดึกดำบรรพ์, ผู้บริหารจำกัดคาร์โบไฮเดรต และกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติ เช่น เนยถั่วจากเมล็ดแตงโม, เนยถั่วจากเมล็ดฟักทอง, เนยถั่วแมคคาเดเมีย เป็นต้น
7.สินค้าสำหรับเด็กแบบใหม่
ปัจจุบันกลุ่มผู้ปกครองเด็ก ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มประชากร Millennials มักมีความเชื่อ และแนวทางในการเลี้ยงดูลูก หรือเด็กที่แตกต่างไปจากกลุ่มผู้ปกครองรุ่นก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง โดยกลุ่มผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะเลือกอาหารสำหรับเด็กที่คล้ายคลึงกับอาหารสำหรับผู้ใหญ่ และมักมีพฤติกรรมชอบลองอาหารประเภทใหม่ ๆ
8.สินค้าสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
ผู้บริโภคชาวอเมริกาตื่นตัวกับการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากขึ้น จึงทำให้พวกเขาหันไปบริโภคสินค้าที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งผลิตจากธรรมชาติเข้ามาทดแทน เช่น น้ำตาลจากหญ้าหวานที่ให้พลังงาน 0 แคลอรี่ รวมถึงความหวานจากผลไม้ เช่น ทับทิม, มะพร้าว และอินทผาลัม เป็นต้น
9.สินค้าเนื้อสัตว์ผสมพืช
ผู้บริโภคชาวอเมริกาหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลปริมาณสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมองทางเลือกเนื้อสัตว์ที่มีส่วนประกอบอื่น ๆ เข้ามาผสม เช่น พืช ผัก หรือธัญพืช
10.สินค้าเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์
ผู้บริโภคชาวอเมริกามีความต้องการที่จะลดเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง โดยเฉพาะน้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลับกันพวกเขามองว่าเครื่องดื่มประเภทใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ ให้ความรู้สึกไม่จำเจ รวมถึงปราศจากน้ำตาล และแอลกอฮอล์ เช่น ชาอัดลมแบรนด์ Hop Tea, น้ำโซดาไม่มีแอลกอฮอล์แบรนด์ Kater Wingman เป็นต้น
ที่มา: กรมการค้าระหว่างประเทศ