“ธุรกิจโลกสวย” เทรนด์ที่แบรนด์ต้องใส่ใจและลดการใช้วัสดุที่ทำลายสิ่งแวดล้อม


ทุกวันนี้เรียกได้ว่าเทรนด์การรักษ์โลกกลายเป็นกระแสที่มาแรงที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจจะด้วยการที่ภาครัฐรณรงค์ให้มีการลดการใช้วัสดุที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลาสติก จึงทำให้แบรนด์สินค้า และผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

งานวิจัยเรื่อง Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลทำการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค โดยหยิบยกประเด็นเกี่ยวสิ่งแวดล้อม และการรักษ์โลกขึ้นมา

ผลวิจัยสามารถจัดกลุ่มผู้บริโภคได้ 4 ประเภท จากการเก็บกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,252 คน ทั้งในด้านทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

  • สายโนกรีน ร้อยละ 26 คือยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุงยาก
  • สายสะดวกกรีน ร้อยละ 15.7 คือคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพฤติกรรมที่เคยชินกับการบริโภคแบบเดิม ๆ และยังไม่มีความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยน
  • สายกรีนตามกระแส ร้อยละ 20.8 มีพฤติกรรมตามกระแสใช้สินค้าอีโค่ แต่ยังขาดทัศนคติในด้านความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว
  • สายกรีนตัวแม่ ร้อยละ 37.6 มีความตั้งใจทำทุกอย่าง และยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเชิงลึกจำนวน 105 คน มีความคิดเห็นว่าองค์กรธุรกิจควรขับเคลื่อนอย่างจริงใจ ถ้าองค์กรเปลี่ยน ผู้บริโภคก็พร้อมจะเปลี่ยนตาม โดยเป็นความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

1.ธุรกิจสินค้าวัตถุดิบ “ย่อยสลายง่ายและนำกลับมาใช้ซ้ำ”

เช่น ธุรกิจถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้เพียงแค่ 4 เดือน ทำจากแป้งมันสำปะหลัง หรือธุรกิจสตาร์ทอัพแบรนด์ More-loop จากรุ่นพี่ CMMU ที่นำเศษผ้าที่เหลือจากการสั่งตัดล็อตใหญ่มารวม ๆ กัน และนำมาจับคู่ขายล็อตเล็กเพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าใหม่

2.ธุรกิจสินค้า Eco มีดีไซน์

ธุรกิจดีไซน์ ทั้งผลิตภัณฑ์ และ Packaging ที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่ มีความเท่ คูล และรักษ์โลก เช่น กระเป๋าฟายทากซ์ที่ทำมาจากผ้าใบของรถบรรทุก หรือธุรกิจ Packaging กินได้

3.ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการ “ที่ใช้พลังงานสะอาด”

เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ตอบสนองกลุ่มคนใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือธุรกิจไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแสงแดด เป็นต้น

4.ธุรกิจสินค้า และบริการ “ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

เช่น ธุรกิจอาหารที่มีวัตุดิบจากพืชแทนการใช้เนื้อสัตว์ในการแปรรูป เพราะการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก หรือธุรกิจวัสดุภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ หรือฟางข้าว เป็นต้น

ที่มา: งานวิจัยเรื่อง Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา