เคยชิน-เคยใช้ หรือเหตุผลอะไร? ที่ทำให้ คนไทย ใช้ภาษาไทยกันผิดมากขึ้น


ปัญหาการสะกดคำผิดในการใช้ภาษาไทย เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน ซึ่งค่อนข้างมีความอ่อนไหวในการที่จะพูดถึง ซึ่งหากมีการเปิดประเด็นขึ้นมาเมื่อไหร่ มักจะมีทั้งฝ่ายที่ถูกใจและไม่ถูกใจแสดงความเห็นไปคนละทาง เช่นฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรใช้ให้ถูกต้อง เพราะแสดงถึงความเป็นเจ้าของภาษา, เป็นมืออาชีพมากกว่า และเพื่อบ่งบอกถึงความรู้ที่ได้เรียนมา ขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ให้ถูก ใช้แบบนี้มานานแล้ว เรื่องมากเกินไปไหม?…อะไรกันนักหนา เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ดี เรื่องของการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ควรถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข ให้คงไว้ซึ่งความสวยงาม ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้น ความเคยชินจะกลืนความงดงามของภาษาประจำชาติของเราไปอย่างน่าเสียดาย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่มีการแชร์ภาพต่อ ๆ กันไป โดยเป็นการเปรียบเทียบการใช้ภาษาไทยของคนไทย และคนต่างชาติ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนเอง คนไทยท่านหนึ่งใช้ คะ, ค่ะ ผิด รวมถึงคำว่า ปฏิบัติการ ใช้เป็น ปฏิบัติกาน ส่วนอีกภาพหนึ่ง เป็นการโพสต์ข้อความหางานของคนพม่า ที่ใช้ทั้งคำว่า ค่ะ และ นะคะ อย่างถูกต้อง 

 

 

ล่าสุด เพจ รักภาษาไทย อย่าใช้ผิด ที่รวมเรื่องดี ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า ทำไมคนจึงใช้ภาษาไทยกันผิดมากขึ้น และเป็นไปได้ไหม หากวันข้างหน้า คนไทยอาจจะเรียนหลักภาษาไทยจากชาวต่างชาติ โดยเนื้อหาระบุว่า 

 

ทำไมคนจึงใช้ภาษาไทยกันผิดมากขึ้น

นี่คือคำตอบซึ่งเป็นมุมที่ดิฉันสัมผัส

“บางสถาบันในระดับอุดมศึกษา ถอดภาษาไทยออกจากหลักสูตร ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง สอนแบบบูรณาการ ไม่เน้นหลักภาษา ผิดก็ไม่รู้ว่าผิดอย่างไร รู้แต่ว่ามันผิด ใครมีพื้นฐานดีก็เป็นบุญ ใครมีพื้นฐานไม่ดี ก็ นะค่ะ น่ะคะ อุปการะคุณ ธุระกิจ กันไป ถูกเชิญให้เป็นเจ้าภาพ และ … ใคร ๆ ก็สอนได้ จึงอธิบายราก ที่มา และที่ไปไม่ได้

ด้วยแนวคิดดังกล่าวครูที่จบเอกภาษาไทยจึงหมดความสำคัญ และที่ค่าเกือบเป็น “ศูนย์” เมื่อมหาวิทยาลัยมองว่าครูเอกไทยสอนไม่สนุก สอนไม่เร้าใจ และไม่ให้สอนวิชาภาษาไทยซึ่งเราถนัดที่สุด .. ช่างเป็นการทำลายภาษาไทยอย่างอำมหิต

เราควรต้องยอมรับว่า บางวิชา บางเนื้อหามันสอนสนุกได้ยาก หากจะมุ่งหวังเนื้อหาที่เข้มข้น และอย่าคิดว่าเด็กค้นคว้าได้เอง เด็กมีพื้นฐานการใช้ภาษาไทยทุกคนในฐานะที่ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ.. ท่านคิดผิด

ทักษะการใช้ภาษาเป็นทักษะเฉพาะตัว ครูจะรู้ว่าผู้เรียนอ่อนประเด็นใด และจะต้องแก้ไขอย่างไร ครูภาษาไทยจึงตรวจงานแบบละเอียดถี่ยิบในการบ้านทุกชิ้น และแก้ไขให้คำแนะนำเป็นรายบุคคล ไม่ใช่เพียงตรวจผ่านตาแต่มันต้องผ่านใจของครูด้วย

เมื่อผู้เรียนยุค gen Y เรียนมาแบบความรู้ไม่แน่น เพราะครูแน่น ๆ ก็ล้มหายตายจากไปตามวัย (และตามระบบบูรณาการ) ก็จะถ่ายทอดสอนลูกสอนหลานต่อไปได้อย่างไร

เราจึงพบครูที่เขียน น่ะคะ ไปคะ ไมรุ มั๊ย
เราจึงพบผู้ปกครองที่น้อยคนจะสะกด คะ ค่ะ ถูกต้อง 

อีกไม่กี่ปีเราคงต้องเรียนหลักภาษาไทยจากชาวต่างชาติที่เขาตั้งใจศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง นักศึกษาจีนหลายคนที่ดิฉันได้สอน “รู้ลึก” มากกว่าเด็กไทยในชั้นเรียนเดียวกัน

นี่คือความตกต่ำของภาษาไทย ที่ดิฉันทำได้เพียงกระตุกเตือนด้วยภาพคำที่ผิด และการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน บางแห่งที่สามารถติดต่อต้นทางได้ จะพยายามบอกกล่าวว่าคำใดผิด คำใดถูก เมื่อได้รับคำแนะนำแล้ว บางที่ก็แก้ไข บางที่ก็เพิกเฉย อย่างไรก็ตาม เราถือว่าทำดีที่สุดแล้ว

วันนี้ เมื่อประมาณเกือบ 7 ปีที่แล้ว เพจรักภาษาไทย อย่าใช้ผิด ก่อกำเนิดขึ้นด้วยแนวคิดของพี่สาว เพื่อน และลูกศิษย์ ซึ่งหากก่อให้เกิดผลที่ดี ขอมอบความดีนั้นให้แก่ทั้งสามคน บุพการีและครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ประสิทธิ์ประสาทสรรพวิชาต่าง ๆ มาให้ได้ใช้ ได้ดำรงอาชีพ

ขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ให้กำลังใจตลอดมา ดิฉันยังคงจะมีแรงมีพลังที่จะกระตุกเตือนการใช้ภาษาไทยต่อไป แม้ว่าปลายอุโมงค์จะมีแสงไฟที่ริบหรี่ลงไปเรื่อย ๆ

ขอบคุณพี่ตั๋น ตู่ และบอยที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ..

ด้วยรัก

ผู้ดูแลเพจรักภาษาไทย อย่าใช้ผิด
16 มกราคม 2563

 

 

Smart SME ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่เชื่อว่าการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องเป็นทักษะที่ไม่ควรมองข้าม และไม่ควรเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ถูกละเลยจนหมดความสำคัญ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสาร

สังเกตไหมว่า คนที่ใช้ภาษาไทยถูกต้อง เช่น นะคะ สวัสดีค่ะ สบายดีไหมคะ จะดูมีเสน่ห์ขึ้นมาทันที ไม่รู้ทำไม……

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : FB รักภาษาไทย อย่าใช้ผิด