สุดยอดเคล็ดลับสำหรับผู้ประกอบการ ทำงานแบบไหนไม่ให้เหนื่อยกับตัวเอง


สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารแล้ว การทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวแทบจะรวมกันเป็นเรื่องเดียว เนื่องจากเช้า สาย บ่าย เย็น คุณเองก็ต้องบริหารจัดการงานตรงหน้าอยู่เสมอ แม้จะมีลูกน้องมากมายเข้ามาช่วย แต่สุดท้ายคนที่รับผิดชอบเรื่องทุกอย่างก็ต้องเป็นคุณอยู่ดี จึงไม่แปลกที่ผู้บริหารหน้าใหม่ส่วนใหญ่ ไปจนถึงหน้าเก่าเอง ก็ยังแยกเวลาส่วนตัวออกจากเวลางานไม่ได้

แม้แต่เสาร์อาทิตย์ หรือดึกแค่ไหนก็ยังต้องตามงานอยู่เสมอ ซึ่งนั่นเป็นหลักการทำงานที่คนยุคเก่าชื่นชอบ แต่ในสมัยนี้คุณต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เหลือเวลาว่างให้กับตัวเองมากที่สุด เพื่อใช้เวลาตรงนี้ในการพัฒนา ปรับปรุงธุรกิจ หรือใช้ไปกับการพัฒนาทักษะของตัวเองได้ ดังนั้นถ้าคุณสามารถดึงเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้ได้ คุณจะเป็นคนที่ปล่อยวางได้ง่าย และมีเวลาเหลือไว้ทำอะไรต่าง ๆ เยอะมาก โดยเฉพาะการพักผ่อนเพื่อเพิ่มพลังให้การทำงานในเช้าวันต่อไป

1. ตรงไหนไม่ถูกใจให้พูดตรงๆ

คนไทยเป็นคนที่มีนิสัยขี้เกรงใจมาก ส่วนใหญ่จะไม่กล้าบอกออกไปตรง ๆ ว่าตัวเองชอบ หรือไม่ชอบอะไร ทำให้เกิดเป็นความอัดอั้นตันใจของผู้ประกอบการ ไม่กล้าใช้งานลูกน้อง และเมื่อมีอะไรต้องแก้ไขคุณจะเก็บไปคิดคนเดียว จนสุดท้ายก็พานให้นอนไม่หลับ หรือเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา

ดังนั้นทางที่ดีคุณต้องฝึกเป็นคนที่กล้าสั่ง กล้าใช้งาน และกล้าพูดตรง ๆ ถึงแนวคิดหรือการกระทำใดที่ดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างที่คุณคาดหวัง เพราะยิ่งสื่อสารชัดเจนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งลดเวลาในการแก้ไข ในการทำงาน และยิ่งช่วยให้คุณสบายใจได้มากเท่านั้น

2. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน

ถ้าคุณอยากเป็นเจ้านาย หรือหัวหน้าที่ไม่ต้องพูดอะไรมาก และฝากความหวังไว้กับลูกน้องได้ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ ยุคนี้เป็นยุคของความเข้าใจกัน เชื่อว่าพนักงานเองก็ไม่อยากที่จะถูกคุณจ้ำจี้จ้ำไชอยู่ทุกวัน หรือโดนคุณทวงงานตลอดเวลา และคุณเองก็ไม่อยากทำแบบนั้นเช่นกัน

ทางที่ดีจึงควรมีเป้าหมายที่แน่นอน เดดไลน์ที่ชัดเจน ช่วยให้รู้ว่าใครต้องทำงานอะไร เมื่อไหร่ ยังไง และเส้นตายส่งงานคือวันไหน เพื่อให้คุณได้ปล่อยวางเรื่องต่าง ๆ และพนักงานเองก็จะได้แบ่งเวลาจัดการงานตัวเองได้ถูกต้อง โดยคุณอาจกำหนดเวลามาหารือกันถึงความคืบหน้างานทุกอาทิตย์ก็เป็นได้

3. แยกข้อเสียกับข้อดีออกจากกัน

อย่าคิดว่าการที่คุณตำหนิติติงพนักงานในบางเรื่อง จะทำให้เขารู้สึกน้อยใจ หรือเป็นเรื่องไม่สมควรทำ เพราะต่อให้พนักงานคนนั้นจะทำดีมากแค่ไหน แต่การทำผิดก็หมายถึงความผิดอยู่ดี บางคนทำงานได้ดีมาก แต่การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นทำไม่ได้เลย ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียกคุย

คุณอย่าปล่อยให้พนักงานคนใดมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นเพียงเพราะเขามีข้อดีมากมาย ดังนั้นเจอข้อเสียของใครเมื่อไหร่ให้เรียกคุยทันที มันจะช่วยจบปัญหา ภาระ และความขัดแย้งในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งไว้เป็นประเด็นให้คุณค้างคาใจอยู่นาน

4. แยกความสัมพันธ์ออกจากเรื่องของงาน

แน่นอนว่าคอนเนคชั่นเองก็เป็นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจ แต่เพราะคอนเนคชั่นก็ทำให้ธุรกิจเจ๊งได้เช่นกัน เพราะถ้าคุณมีความสัมพันธ์กับพนักงานในแบบที่แตกต่างกับคนอื่น เช่น มีญาติ พี่น้อง มาร่วมงานด้วย และคุณไม่ตักเตือนให้เท่าเทียมกัน พฤติกรรมการทำผิดเหล่านั้นจะติดตัวเขาไปตลอด และคุณเองนั่นแหละที่ต้องตามเก็บกวาด หรือไปเพิ่มภาระหน้าที่ให้พนักงานคนอื่นแบบไม่รู้ตัว

การมีคนในคอยสอดส่องอยู่นับเป็นเรื่องดีก็จริง แต่ก็อย่าปล่อยให้มันชักจูงให้เขาทำผิดโดยไม่สนใจคนรอบข้าง เพราะสุดท้ายถ้าคนในองค์กรทนไม่ไหว ลาออกกันไป คุณเองจะเป็นคนที่เหนื่อยหาพนักงานใหม่ กลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่คุณไม่มีทางแก้ปัญหาได้จบสิ้น

5. ไม่เก็บเรื่องที่ผ่านไปมาคิด

พนักงานที่ทำผิดทุกคนควรได้รับโอกาสแก้ตัวทั้งสิ้น ซึ่งถ้าคุณเห็นใครทำผิด และได้เรียกมาว่ากล่าวตักเตือนแล้ว ให้คุณปล่อยวางมันไปทันที เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะผูกใจเจ็บ เก็บเอามาคิดอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อพนักงานคนเดิมทำเรื่องใหม่ ๆ พลาด คุณจะนำความผิดเก่ามาบวกเพิ่มด้วย ทำให้มีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด หรือไม่พอใจเกินความเป็นจริง

ซึ่งต่อให้เขาพลาดก็จริง แต่ถ้ามันเป็นคนละเรื่องกัน ก็ควรคุยกันในประเด็นนั้นเท่านั้นก็พอ ไม่นำสองเรื่องมาปนรวมกัน เพราะนอกจากจะทำให้พนักงานหมดกำลังใจแล้ว คุณเองก็จะเครียดอย่างต่อเนื่องว่าทำไมลูกน้องถึงไม่ได้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่มันไม่ควรจะเครียดด้วยซ้ำไป

ดังนั้นการปล่อยวางเรื่องเก่าแล้วคุยแค่เรื่องใหม่ที่ทำพลาด เป็นสิ่งที่หัวหน้าทุกคนควรฝึกไว้ให้เป็นนิสัยติดตัว แล้วคุณจะมีเวลาว่าง ไม่ต้องมาปวดหัวกับเรื่องงานหนักแบบทุกวันนี้อีกเลย