นักรีวิวยอดนิยมในปัจจุบันมักเป็นผู้สร้างคอนเทนต์อิสระ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์, ยูทูปเบอร์ และ influencer ผู้สร้างคอนเทนต์เหล่านี้มักมีฐานผู้อ่านหรือผู้ชมที่พร้อมจะให้ความสนใจ และเชื่อถือในสิ่งที่นักรีวิวเขียนหรือพูดถึงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และยังนิยมชมชอบในตัวตนหรือบุคลิกของผู้สร้างคอนเทนต์อีกด้วย
ช่วงหลายปีมานี้กลุ่มผู้เสพคอนเทนต์ในประเทศไทย, เมียนมา, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างมีแนวโน้มเปลี่ยนไปเชื่อสิ่งที่ influencer พูดมากกว่าสื่ออื่น ๆ ดังนั้น อาจเป็นการดีที่แบรนด์ของคุณจะลองมองหาผู้มารีวิวสินค้าจาก influencer เหล่านี้
เทคนิคดี ๆ ในการสร้างรีวิวให้กับแบรนด์ของคุณ
1. สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่านักรีวิว
พยายามติดต่อและขอข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโปรไฟล์ของนักรีวิวและค่าโฆษณาเอาไว้แต่เนิ่น ๆ พร้อมจัดทำเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ภายในองค์กร และเป็นการดีที่จะมีทีมไว้ทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากลูกค้าที่เป็นแบรนด์ต่าง ๆ มักไม่มีข้อมูลด้านนี้อยู่ในมือ และมักขอให้เอเจนซี่เป็นธุระดำเนินการให้
และเมื่อรู้จักลักษณะเฉพาะของนักรีวิวแต่ละรายดีพอแล้ว จะช่วยให้คุณเลือกนักรีวิวที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างได้ คงเป็นเรื่องดีที่คุณจะสามารถเป็นตัวกลางเพื่อบอกกับลูกค้าว่าคุณรู้จักนักรีวิวที่ใช่สำหรับผลิตภัณฑ์ และสามารถบอกกับนักรีวิวได้อย่างมั่นใจว่าคุณมีผลิตภัณฑ์โดน ๆ มาให้นักรีวิวคนดังกล่าวโดยเฉพาะ
2. ระบุเงื่อนไขของการรีวิวอย่างชัดเจน
ต้องแน่ใจว่าสื่อสารกันอย่างชัดเจนในทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดอื่น ๆ ที่อาจจะตามมาได้ เช่น ควรทำรีวิวออกมาในรูปแบบไหน มีประเด็นอะไรเด่น หรือต้องเน้นอะไรบ้าง โดยควรรับทราบทิศทางที่ชัดเจนมาจากแบรนด์ของลูกค้าเพื่อส่งงานต่อไปยังผู้รีวิวได้อย่างไม่ตกหล่นและให้แน่ใจว่าผู้รีวิวเข้าใจจุดเด่นของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้บทรีวิวออกมาตรงตามที่คาดหวัง
การทำเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของตัวผลิตภัณฑ์เอาไว้อย่างครบถ้วนนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี เนื่องจากผู้บริโภคมักต้องการทราบคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีโดยละเอียดมากกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีค่าใช้จ่าย การสื่อสารเรื่องเงื่อนไขการชำระเงินก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสื่อสารอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น รวมถึงรายละเอียดด้านภาษี โดยต้องอธิบายอย่างละเอียดทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราราคาให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและพยายามสื่อสารทันทีตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเอเจนซี่กับนักรีวิวก็เช่นกันกับความสัมพันธ์อื่น ๆ ที่ยากจะประสานได้หากมีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ
3. ร่างเอกสารสัญญาให้นักรีวิวเซ็นเอาไว้ให้เรียบร้อย
เอกสารสัญญาที่มีผลข้อผูกพันทางกฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีเอาไว้เมื่อทำการส่งมอบผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงให้แก่นักรีวิวเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้กลับมาในสภาพดีดังเดิม หากไม่มีการเซ็นสัญญาเอาไว้ อาจมีความเป็นไปได้ที่ตัวผลิตภัณฑ์จะสูญหายหรือเสียหาย การมีข้อตกลงกันเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็เพื่อให้นักรีวิวได้เข้าใจเงื่อนไขและรายละเอียดอย่างครบถ้วน และเช่นเดียวกับเทคนิคข้อที่ 2 คือทุกฝ่ายควรมีรายละเอียดที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เข้าใจตรงกัน
4. ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของคุณ
การเลือกผู้รีวิวที่ใช่จะต้องดูจากหลากหลายปัจจัย รวมถึงประเภทหรือตัวผลิตภัณฑ์เอง โดยสินค้าแต่ละอย่างอาจจะเหมาะกับการส่งให้นักรีวิวพร้อมกันหลาย ๆ ราย โดยแต่ละรายมียอดติดตามพอประมาณ ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจเหมาะกับการส่งให้นักรีวิวชื่อดังเพียงรายเดียวก็ได้ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีตลาดเฉพาะของตัวเองและมีนักรีวิวในด้านนี้เพียงไม่กี่ราย คุณอาจต้องเลือกส่งผลิตภัณฑ์ไปให้กับผู้รีวิวอย่างน้อยหนึ่งราย
ถ้าหากเป็นตลาดที่ค่อนข้างกว้างและหลากหลาย การเลือกนักรีวิวที่น่าเชื่อถือหลายรายพร้อมกันให้รีวิวผลิตภัณฑ์ก็นับเป็นวิธีที่ดีกว่าในการใช้งบให้เกิดผลสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฐานผู้ติดตามของนักรีวิวมีแนวโน้มสูงที่จะมีส่วนร่วมหรือปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาของผู้รีวิว คอนเทนต์จากนักรีวิวแต่ละรายจะช่วยให้ความนิยมชมชอบและการตอบรับจากผู้ติดตามเพิ่มขึ้น เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่านักรีวิวกำลังสื่อสารกับพวกเขาโดยตรง
ด้วยเหตุนี้ คุณควรเลือกนักรีวิวหลาย ๆ รายที่สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ เช่น การรีวิวกล้องถ่ายรูปดิจิทัล ควรเลือกผู้รีวิวที่สามารถสื่อสารไปถึงกลุ่มนักเล่นหรือนักสะสมกล้อง, กลุ่มช่างภาพมืออาชีพ และกลุ่มวีล็อกเกอร์ไปพร้อม ๆ กัน
หรือในการรีวิวคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่มีคุณสมบัติการใช้งานได้หลากหลายก็ควรเลือกนักรีวิวที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มนักออกแบบ, เกมเมอร์, ผู้ใช้งานธุรกิจ และผู้ใช้งานทั่วไป โดยให้เนื้อหาในรีวิวของแต่ละรายเหมาะสำหรับผู้อ่านในแต่ละกลุ่ม ผ่านการเน้นจุดเด่นและลักษณะในการใช้งานที่แตกต่างกันไป โดยลงลึกในรายละเอียดเท่าที่เหมาะสมกับกลุ่มนั้น ๆ
5. เชื่อใจนักรีวิวให้ออกแบบเนื้อหารีวิวของตัวเอง
นักรีวิวแต่ละคนมีกลุ่มผู้ติดตามเป็นของตัวเองเนื่องจากจุดเด่นเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นเอเจนซี่และแบรนด์ไม่ควรพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบเนื้อหาที่นักรีวิวทำอยู่แล้ว แต่ควรให้ความเคารพในแนวทาง, วิธีการเล่าเรื่อง และการรีวิวอย่างตรงไปตรงมาที่ผู้รีวิวแสดงออกมา รวมทั้งส่วนดีหรือข้อจำกัดที่นักรีวิวมองเห็นในตัวผลิตภัณฑ์
นักรีวิวแต่ละคนรู้เป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าการรีวิวผลิตภัณฑ์ ๆ หนึ่งเฉพาะในด้านดี ๆ จนเกินไปจะทำให้ผู้อ่านดูออกว่าเป็นหน้าม้าให้กับแบรนด์ และอาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้อ่านไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการรีวิวใด ๆ คือการถ่ายทอดประสบการณ์ใช้งานอย่างตรงไปตรงมาเพื่อทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมเกิดความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด เพราะบทรีวิวถึงแม้จะพูดรวมในด้านที่ไม่ดีด้วย ก็ยังสามารถช่วยให้ผู้อ่านตัดสินใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเหมาะสมกับความต้องการของตัวเองหรือไม่
อ้างอิง:
www.vero-asean.com