เริ่มต้นปีใหม่จีนอย่างปลอดภัย


เทศกาลตรุษจีนตามธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติมักมีการประกอบอาหาร, การจุดธูปเทียนบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ, การเผากระดาษเงินกระดาษทอง, การจุดประทัด รวมถึงการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายสูงกว่าปกติ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะ การป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ป้องกันอัคคีภัย

-ปิดเตาแก๊สและวาล์วถังก๊าซทุกครั้งหลังการใช้งาน และไม่อุ่นอาหารทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล
-ใช้เชิงเทียนและกระถางธูปที่ทำจากวัสดุทนไฟ ห้ามจุดธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล รวมถึงดับไฟให้สนิททุกครั้ง
-เผากระดาษเงินกระดาษทองในภาชนะทนไฟ ห่างจากแหล่งเชื้อเพลิงและวัสดุที่ติดไฟง่าย พร้อมเตรียมถังน้ำไว้ใกล้ๆ หากไฟลุกลามจะได้ควบคุมเพลิงทันท่วงที
-ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะโคมไฟประดับและไฟกะพริบบริเวณศาลเจ้าที่จีน (ตี่จู้เอี๊ยะ) รวมถึงปิดสวิตช์ไฟและถอดปลั๊กไฟหลังใช้งานหรือก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร

ป้องกันอุบัติภัยจากประทัด

-ไม่จุดประทัดในพื้นที่เสี่ยงเพลิงไหม้ โดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือน แนวสายไฟฟ้า สถานีบริการน้ำมัน ควรจุด ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้
-ไม่จุดประทัดในลักษณะเสี่ยงอันตราย โดยไม่โยนประทัดที่จุดไฟแล้วใส่กลุ่มคน ไม่ดัดแปลงประทัดให้มีแรงอัดสูงหรือเสียงดังผิดปกติ รวมถึงไม่ยื่นอวัยวะส่วนใดเข้าใกล้ประทัดที่จุดไฟแล้ว
-ออกห่างจากบริเวณที่จุดประทัดในระยะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เพราะอาจได้รับอันตรายจากสะเก็ดไฟ

ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

-เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมขับรถ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เพราะอาจหลับในขณะขับรถได้
-ตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ ระบบเบรก ยางรถยนต์ สัญญาณไฟ รวมถึงเติมน้ำในหม้อน้ำ น้ำมันคลัตช์ น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
-วางแผนและเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย โดยตรวจสอบเส้นทางล่วงหน้าจากเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันแนะนำเส้นทาง
-เพิ่มความระมัดระวังเมื่อขับรถผ่านเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ เส้นทางชำรุด ทางโค้ง ทางแยก เส้นทางที่ทัศนวิสัยไม่ดี
-ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยไม่ขับย้อนศร ไม่แซงในระยะกระชั้นชิด ไม่ขับฝ่าสัญญาณไฟ และเร็ว เมา โทร ง่วงไม่ขับอย่างเด็ดขาด
-จอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัย ทุกระยะทาง 150 กิโลเมตร หรือทุก 2 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการง่วงนอน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน

อ้างอิง: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย