กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดทำข้อมูลที่น่าสนใจ โดยได้รวบรวม 15 ธุรกิจเนื้อหอมน่าจับตามองปี 2563 พิจารณาจากธุรกิจที่อยู่ในกระแสและเทรนด์ของการประกอบธุรกิจในอนาคตร่วมกับจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ การแบ่งตามขนาดธุรกิจ ผลประกอบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจัดทำข้อมูลตามประเภทธุรกิจ (รหัสธุรกิจ TSIC) อ้างอิงตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2552 ของกรมการจัดหางาน
สำหรับเทรนด์ธุรกิจเนื้อหอมทั้ง 15 กลุ่ม มีดังนี้
1. ธุรกิจแพลตฟอร์ม
เป็นธุรกิจตลาดกลางออนไลน์ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยในปัจจุบันธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ได้รับความนิยม
มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อีกทั้งสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น สะดวกตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน
2.ธุรกิจ e-Commerce
เป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ของตลาดการค้าขายขนาดใหญ่ เข้าถึงง่ายผ่านอินเทอร์เน็ต อยู่ที่ไหนก็สามารถซื้อขายสินค้าได้ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน โดยตลาดของธุรกิจ e-Commerce มีอัตราการเติบโตขึ้นทุกปี
3. ธุรกิจเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์
เทคโนโลยีและอุปกรณ์ เข้ามาเป็นหนึ่งในใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะการสื่อสาร การเดินทาง และอื่น ๆ ของคนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการประกอบธุรกิจ จึงทำให้ธุรกิจเทคโนโลยีและอุปกรณ์ยังคงได้รับความนิยมและเป็นตลาดที่ยังเติบโตอยู่
4. ธุรกิจโครงข่าย
เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ รวมทั้งผู้ให้บริการโครงข่าย ซึ่งมีโอกาสการเติบโตสูงสอดคล้องกับความต้องการใช้ข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5. ธุรกิจเกมและพัฒนาแอปพลิเคชัน
เป็นธุรกิจที่พัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชันซึ่งกำลังเติบโตสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและอัตราการใช้งาน “Smartphone” ที่เพิ่มขึ้นทำให้องค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ เพิ่มความสะดวกสบาย และกระตุ้นการใช้บริการหรือการซื้อสินค้า
6. ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม
การให้บริการทางด้านสุขภาพและความงาม เช่น การทำผมและการรักษาความงาม การอาบ อบ นวด สปา สถานที่ลดน้ำหนักและรักษาทรวดทรง คลินิกดูแลความงามและสุขภาพ
7. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สตรีทฟู้ด
ธุรกิจให้บริการอาหารแก่ลูกค้า ทั้งแบบที่ให้บริการที่โต๊ะหรือแบบบริการตนเองการรับประทานอาหารภายในร้าน นำกลับหรือสั่งจัดส่งที่บ้าน รวมถึงการเตรียมและให้บริการอาหารสำหรับพร้อมบริโภคจากรถหรือรถเข็นขายอาหาร
8. ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
ธุรกิจดูแลรักษาผู้สูงอายุในสถานที่ที่มีที่พักและมีคนดูแลประจำ ซึ่งรวมถึงการดูแลอย่างต่อเนื่องแก่ชุมชนผู้เกษียณอายุและบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ การจัดห้องพัก บ้านพักประจำ การดูแลเฝ้าระวังและการช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน
9. ธุรกิจ Fintech และ e-Payment
เป็นธุรกรรมทางการเงินและธุรกรรมการชำระเงิน รวมถึงธุรกรรมเกี่ยวกับบัตรเครดิต
10. ธุรกิจพลังงาน
เป็นธุรกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไปยังศูนย์จ่ายและส่งไปยังผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งรวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งความร้อน นิวเคลียร์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำ กังหันก๊าซ ดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) และพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนอื่น ๆ
11. ธุรกิจความเชื่อ
เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ เช่น การดูดวง ดูฮวงจุ้ย กำหนดฤกษ์ยาม การทำพิธีบวงสรวง แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน แต่คติความเชื่อตามขนบธรรมเนียมหรือจารีตประเพณี ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน มิได้เลือนหายไปและยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
12. ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
ปัจจุบันคนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว และมีราคาประหยัดมากขึ้น ทำให้ธุรกิจนำเที่ยวมีการขยายตัวและมีการแข่งขันกันในด้านราคาและมาตรฐานการให้บริการ ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการที่ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นในราคาถูกลง ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต่างชาติก็นิยมเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หากธุรกิจมีมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพก็จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
13. ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุง
เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความงามและสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมอยู่เสมอ ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจในการดูแลสุขภาพและความงานในภาพรวมมากขึ้น ในทุกเพศและทุกวัย
14. ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์
เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากระบบขนส่งโลจิสติกส์ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจการค้าและการบริการในทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การผลิต จนกระทั่งสินค้าและบริการเหล่านั้นเดินทางถึงผู้บริโภค
15.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต
เป็นการดำเนินธุรกิจในการรับประกันภัย รับทำสัญญา (ออกกรมธรรม์) ให้ความคุ้มครองชีวิตและการออมเงินและคุ้มครองภัยพิบัติต่างๆ เป็นการดำเนินธุรกิจให้บริการทางด้านการเงินอีกรูปแบบหนึ่ง บริษัทประกันภัยจะเป็น ผู้ประเมินความเสี่ยงภัยต่างๆ เพื่อคำนวณหาค่าเบี้ยประกันภัย ที่จะเรียกเก็บจากผู้เอาประกันภัย
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์