เรื่องนี้ต้องรู้! ขั้นตอนขออนุญาตปลูก “ไม้มีค่า” สร้างรายได้


“ทรัพย์ระยะยาว” อาจเป็นคำที่นิยามถึง การปลูกไม้เศรษฐกิจในเชิงพานิชย์ได้ดีที่สุด เพราะการปลูกต้นไม้เพื่อเอาไม้มีค่าไปขาย นับเป็นการลงทุนน้อยที่แทบจะไม่มีความผันผวนเลย

หลายคนที่มีที่มีทาง ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้เพื่อเก็บเกี่ยวดอกผลในระยะยาวกันอย่างแพร่หลาย เพราะตัวเลขเม็ดเงินที่ได้รับมา บางคนได้หลักล้าน หรือหลักสิบล้านบาทก็มีจากการขายไม้ เสมือนว่าเป็นหนึ่งในเงินเกษียณจากการทำงานชั้นดีที่จะทำให้อีกหลายคนสุขสบายจากการปลูกต้นไม้เลยทีเดียว

การปลูกไม้เศรษฐกิจในเชิงพานิชย์ ถือเป็นอีกนโยบายที่สำคัญของสํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ให้การสนับสนุนสมาชิกกองทุนและเกษตรกรทั่วประเทศเพื่อให้มีรายได้

แต่กระนั้น ก็ยังมีอีกหลายคนยังคงไม่เข้าใจว่า การปลูกไม้มีค่าเหล่านี้ต้องขออนุญาตหรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไร แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายการตัดขายไม้หวงห้ามเหล่านี้ไม่ต้องขออนุญาตแล้วก็ตาม

คำตอบคือ ต้องขออนุญาต แต่คำถามต่อมาคือขออนุญาตอย่างไร คุณสมบัติล่ะต้องเป็นแบบไหน วันนี้ มีคำตอบมาให้สำหรับผู้ที่สนใจ

คุณสมบัติของการปลูกไม้มีค่า ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เริ่มจาก

1.มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น

2.ผู้มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในที่ดิน (ทำหนังสือขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดิน)

3.กรณีเช่าที่ดิน ต้องมีสัญญาเช่าพร้อมหนังสือยินยอมผู้ให้เช่า

ส่วนขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียน ชนิดไม้มีค่าที่จะปลูกนั้น ก็ไม่ยุ่งยากเช่นกัน

1.ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน โดยเมื่อยื่นแล้วผู้ยื่นคำขออาจดำเนินการไปก่อนได้

2.ชนิดไม้ที่ขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าได้ตามกฎหมาย คือ “เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ” ซึ่งถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียน ได้แก่ ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ซึ่งการทำไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ข. ไม้หวงห้ามพิเศษ ไม้หายากหรือไม้ที่ควรสงวน ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำไม้ เว้นแต่รัฐมนตรี จะได้รับอนุญาตในกรณีพิเศษ

* ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก.
* ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม

เอกสารและหลักฐานประกอบการขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า

1.แบบคำขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า (สป.1)

2.สำเนาทะเบียนบ้าน

3.สำเนาบัตรประชาชน

4.กรณีเป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องมีหนังสือยินยอมทำประโยชน์

5.สำเนาหลักฐานที่ดิน เพื่อแสดงว่า ที่ดินดังกล่าวผู้ยื่นคำขอ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองหรือสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น

6.แผนที่สังเขป แสดงที่ตั้ง เขตติดต่อและแนวเขตที่ดินที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่า

การดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า

1.ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสวนป่า

2.รอเจ้าหน้าที่พนักงานดำเนินเรื่องการขึ้นทะเบียน

3.พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพที่ดินและเสนอผลการตรวจสอบ

4.นายทะเบียนแจ้งรับหรือไม่รับขึ้นทะเบียนสวนป่าและออกหนังสือรับรอง

ทั้งนี้ หากทำตามขั้นตอนนี้ทุกอย่าง การปลูกต้นไม้มีค่าตัดขายก็ไม่ต้องขออนุญาต โดยอนาคตใครที่มีที่ดิน สามารถปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนเองได้ และถ้าไม้โตแล้วอยากจะตัดไปขายก็สามารถทำได้ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ปี 2484 มาตรา 7 (แก้ใหม่) โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว หรืออยากจะเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็สามารถทำได้เช่นกัน สำหรับเกษตรกรที่อยากตัดไม้มีค่าเติบโตแล้วสามารถนำไปขายได้ทุกที่ที่เปิดรับซื้อ