เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ไม่หวั่นศักดิ์ศรี ไปรษณีย์ไทย กระหน่ำเกมรุกชิงยืนหนึ่งในตลาดส่งด่วน


SCB EIC คาดการณ์มูลค่าตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุปี 2563 มีแนวโน้มทะยานขึ้นถึง 35% จากมูลค่าตลาดราว 6.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงปี 2565 จะเติบโตเฉลี่ย 22% ต่อปี จากมูลค่าตลาดโดยรวมปี 2562 ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)หรือ ETDA คาดการณ์ไว้ที่ 3.8 ล้านล้านบาท ปัจจัยดังกล่าวมีผลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การแข่งขันในตลาดขนส่งพัสดุที่ไม่เพียงแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่อาจจะเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “เกมพลิก” ได้ทุกขณะ

เคอรี่ ผนึกพันธมิตรเสริมแกร่งทุกมิติ

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เข้าสู่ตลาดขนส่งพัสดุด่วนในปี 2549 ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและบริการจัดส่งที่สะดวก รวดเร็วรวมถึงการให้บริการที่สุภาพและพร้อมให้ความช่วยเหลือตลอดการใช้บริการเรียกว่าเลือกใช้ Pain point ของผู้นำตลาดเข้ามาโจมตีได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ใช้ความได้เปรียบของการเป็น “เอกชน” ซึ่งบริหารจัดการและตัดสินใจได้รวดเร็วเข้ามาสร้างโอกาสในการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ Network company ในลักษณะ “พันธมิตรทางธุรกิจ” ทั้งด้านรถจัดส่งสินค้าที่ใช้การเช่าแทนการซื้อ เพื่อให้ผู้ที่รถเข้าร่วมเป็นพันธมิตรซึ่งเท่ากับว่า เคอรี่ มีรถให้บริการจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้นและมีต้นทุนด้านการจัดการต่ำ

 

 

กลยุทธ์ดังกล่าวยังถูกมาขับเคลื่อนกับการสร้างเครือข่ายด้านศูนย์รับพัสดุซึ่งปัจจุบันได้ขยายโอกาสในการร่วมเป็นเอเย่นต์ไปสู่ร้านค้าทั่วไปที่มีหน้าร้านสามารถเข้าร่วมกับเคอร์รี่ได้ โดยก่อนหน้านี้ร่วมกับพันธมิตรกับค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล รีเทล อย่างแฟมิลี่มาร์ท B2S เป็นต้น ทำให้ขณะนี้มีจุดรับพัสดุครอบคลุม 10,000 แห่งทั่วประเทศ และที่สำคัญคือพันธมิตรหลักอย่างลาซาด้านั้นมีผลอย่างมากต่อการเติบโตของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ในขณะนี้

การสร้างความแข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวยังถูกนำมาปรับใช้ในลักษณะธุรกิจต่อธุรกิจ โดยในปี 2561 เคอรี่ เอ็กซ์เพรสได้ขายหุ้นให้บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)ในเครือบีทีเอสกรุ๊ปในสัดส่วน 23% ทำให้เป็นแบรนด์เดียวในตลาดขนส่งพัสดุที่สามารถจัดส่งและเปิดจุดรับพัสดุผ่านรถไฟฟ้าและสถานีของบีทีเอสได้รวมถึงสามารถใช้แรบบิท ไลน์เพย์ ชำระบริการค่าส่งสินค้าแบบไม่ใช้เงินสดเพื่อความสะดวกสบาย

 

 

ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกันให้บริการ “BTS Express Service” ที่ส่งพัสดุไปยัง 12 สถานีปลายทางแบบเดลิเวอรี่ใน 3 ชั่วโมง รวมถึงมีบริการส่งของในระยะ 200 เมตรจากรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยให้บริการใน 4 สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสคือศาลาแดง, พร้อมพงษ์, ทองหล่อและสถานีสยาม ซึ่งครั้งนี้จะทำให้เคอรี่ เป็นบริการส่งพัสดุด่วนสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่รวดเร็วที่สุด

นอกจากนี้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ได้เป็นพันธมิตรกับควิก เซอร์วิส ไปรษณีย์เอกชนซึ่งมีสาขา 400 จุด ซึ่งจะทำให้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ลดต้นทุนในการขยายจุดบริการและทำให้มีจุดบริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เตรียมเสนอขายหุ้น IPO

ปัจจุบันยอดผู้ใช้บริการส่งพัสดุด่วนของเคอรี่ เอ็กซ์เพรสแตะ 2,000,000 กล่องต่อวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและจากตัวเลขดังกล่าวทำให้มีการยืนยันว่าขณะนี้ได้ขึ้นผู้นำในตลาดขนส่งพัสดุด่วนเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีระดับรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2560 มีรายได้รวม 6,673,125,658 บาท กำไร 732,995,165 บาท ในปี 2561 ระดับรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยมีมูลค่าถึง 13,667,678,189บาท กำไร 1,185,100,795 บาท และส่วนแบ่งตลาดเริ่มจี้ติดผู้นำตลาดเข้ามาทุกขณะ

อย่างไรก็ตาม เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ยังคงต้องเร่งเพิ่มความแกร่งให้กับธุรกิจเพื่อสนองตอบต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการช้อปปิ้งออนไลน์รับกับสถานการณ์การแข่งขันที่จะเข้มมากขึ้น จากการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่ซึ่งได้ผ่านช่วงวางรากฐานธุรกิจและพร้อมที่จะแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นแฟลช เอ็กซ์เพรส, เบสท์ เอ็กซ์เพรสและที่น่าจับตามองที่สุดคือลาซาด้า เอ็กซ์เพรส บริษัทขนส่งในเครือลาซาด้า

ทั้งนี้ยังมีการเข้ามาของแกร็บ เอ็กซ์เพรส (Grab Express) และเก๊ต เอ็กซ์เพรส (Get Express) ซึ่งเริ่มเข้ามาชิมลางในตลาดบ้างแล้ว ซึ่งการแข่งขันจากนี้จะทำให้การส่งของจะง่ายขึ้น จากปีที่ผ่านมาอาจเคลมกันที่การส่งของภายในวันเดียว (Same day Delivery) แต่ในเวลาอันใกล้นี้การท้าทายในการตลาดจะว่ากันที่ ส่งภายใน 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

ทิศทางที่กล่าวมาสะท้อนให้ได้ว่าการขับเคี่ยวในตลาดจากนี้จะดุเดือดขึ้นอย่างมาก ซึ่งเคอรี่ เอ็กซ์เพรสได้วางแผนรับมือไว้ โดยจากการรายงานของบลูมเบิร์ก กล่าวว่าบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (Kerry Express) ยืนยันว่ากำลังวางแผนที่จะเสนอขายหุ้นให้แก่สาธารณะชนเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อระดมทุนมาเร่งการลงทุน ซึ่งหาดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยเท่ากับว่าครั้งนี้ ถือเป็นการติดปีกครั้งสำคัญของเคอรี่ เอ็กเพรส

ไปรษณีย์ไทย ย้ำจุดแข็ง 

ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยยังถือว่าเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งจากประสบการณ์ที่อยู่ในธุรกิจมากว่า 100 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงจากตลาดที่ไม่มีคู่แข่งขันกลายเป็นตลาดที่การแข่งขันสูง ทั้งยังเป็นการขับเคี่ยวกับบริษัทข้ามชาติที่มีประสบการณ์ เงินทุนและเทคโนโลยีทันสมัย จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งขององค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีโครงสร้างการบริหารแบบรัฐที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน ทำให้การขยับตัวแต่ละครั้งเชื่องช้าไม่สอดคล้องกับการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามไปรษณีย์ไทยยังมีจุดแข็งที่ทำให้คงรักษาความผู้นำตลาดไว้ได้ในขณะนี้

1.เครือข่าย ที่ครอบคลุมเป็นใยแมงมุมทั่วประเทศ ด้วยจำนวนที่ทำการไปรษณีย์ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ราว 7,000 -8,000 แห่งซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ห่างไกลในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน ทำให้ผู้บริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัดคุ้นเคยและไว้ใจการใช้บริการที่ไปรษณีย์

2. ราคา ด้วยระดับราคาค่าบริการที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้บริการส่งจากไปรษณีย์ไทย ทั้งมีระดับราคาให้เลือกใช้ได้หลากหลาย

3. ความเร็ว ซึ่งมีรูปแบบการส่งให้เลือกตามความเหมาะสม เช่นส่งแบบธรรมดาไม่เกิน 7 วัน,ส่งแบบลงทะเบียนเพื่อรับรองว่าถึงผู้รับแน่นอนและการส่งแบบด่วนหรือEMS ซึ่งขณะนี้ได้ยกระดับการให้บริการทั้งแบบ Next Day ทีให้บริการได้ครอบคลุมแล้ว

รวมทั้งการพัฒนามาสู่ Sameday Delivery สำหรับการส่งก่อน 11 โมงเช้าให้สามารถรับสินค้าได้ภายในวันเดียวกัน และวางแผนที่จะเร่งพัฒนาบริการส่งแบบข้ามภูมิภาครวมทั้งการส่งจากพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่กันคนละภูมิภาคให้สามารถส่งแบบ Next Day ได้ทุกพื้นที่100% ทั่วประเทศ

 

 

ปรับยุทธศาสตร์ก่อนจะเพลี่ยงพล้ำ

ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยการพลิกสถานการณ์จากผลประกอบการขาดทุนให้กลับเป็นกำไร ทั้งยังสามารถปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสะท้อนให้เห็นศักยภาพในการแข่งขัน ดังจะเห็นจากการจัดแคมเปญทางการตลาด เช่น การจัดแคมเปญลดราคา EMS และ COD กว่า 70% ในช่วงเทศกาลปลายปี แคมเปญชิงโชค “ท้าส่งลุ้นล้าน 2020 : ร่วมชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 9 ล้านบาท จำนวน 2020 รางวัล หรือแคมเปญคูเรียร์โพสต์ ลดราคารับปีใหม่ ด้วยการร่วมกับพันธมิตรดีเอชแอลเอ๊กซ์เพรส ในการขยายบริการ“คูเรียร์โพสต์” ใน 50 ประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามไปรษณีย์ไทยยังจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปี 2563 มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนการติดตั้งเครื่องคัดแยกพัสดุแบบกล่อง Cross Belt Sorter ที่ศูนย์ไปรษณีย์อีก 7 แห่ง รวมเป็น 9 เครื่อง ซึ่งเมื่อใช้งานอย่างเต็มระบบจะสามารถรองรับปริมาณงานได้ 60,000,000 ชิ้นต่อเดือน

โดย Cross Belt Sorter เป็นเครื่องคัดแยกสิ่งของที่ทันสมัยที่สุด โดยจะเพิ่มความเร็วและคุณภาพในกระบวนการคัดแยกด้วยการสแกนบาร์โค้ดด้วยจากเครื่องอ่านรหัสไปรษณีย์แบบ OBR (Optical Barcode Recognition) ที่สามารถอ่านรหัสไปรษณีย์ 5 มิติให้ประสิทธิภาพในการคัดแยกสิ่งของได้กว่า 6,500,000 ชิ้นต่อเดือนและในระยะยาวจะเพิ่มเป็น 18 เครื่อง ภายในปี 2566 ที่จะรองรับปริมาณงานกว่า 120 ล้านชิ้นต่อเดือน

 

ส่วนแบ่งตลาดบริการขนส่งพัสดุ ปี 2561