นิยามใหม่ “Micro SME” ฟันเฟืองสำคัญ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย


ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการให้นิยามของ SME โดยดูจากการใช้จำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเป็นเกณฑ์ แต่เมื่อประเทศพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 ภาค SME มีการปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้นแทนการจ้างงานทำให้รูปแบบธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น บางกิจการมีการจ้างงานไม่ถึง 10 คน แต่สร้างรายได้เกือบ 1,000 ล้านบาทต่อปี กลุ่มนี้จึงไม่น่านับเป็น SME ทำให้นิยาม SME มีความสำคัญ เพราะถูกนำไปใช้ในกระบวนการส่งเสริมผู้ประกอบการหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อออกมาตรการหรือนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ รวมถึงเพื่อติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ของ SME ต่อไป

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้การกำหนดคุณลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ นิยาม SME ของประเทศเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยนิยาม SME ใหม่ ใช้จำนวนการจ้างงานและรายได้เป็นเกณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ขนาดของวิสาหกิจและโครงสร้างทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า จำนวน SME ทั่วประเทศ 3,070,177 ราย เป็น วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) 3,029,525 ราย และวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) 40,652 ราย โดยเฉพาะในส่วนของวิสากิจขนาดย่อมได้รวมกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย หรือ Micro เข้าไว้ด้วย

ซึ่งตามนิยามใหม่ Micro คือ กลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท การจ้างงานไม่เกิน 5 คน ซึ่งมีจำนวนถึง 2,644,561 ราย นับเป็นวิสาหกิจส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.74 ของจำนวนผู้ประกอบการรวมทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกิจการในรูปแบบธุรกิจส่วนบุคคล 2,253,132 ราย กิจการในรูปแบบนิติบุคคลมีจำนวน 391,429 ราย

สำหรับกลุ่ม Micro ที่เป็นธุรกิจส่วนบุคคล พบว่า อยู่ในภาคการค้ามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.58 กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก คือ การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ รองลงมาอยู่ในภาคบริการ คิดเป็นร้อยละ 35.73 กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก คือ บริการอาหารและเครื่องดื่ม และภาคการผลิต คิดเป็นร้อยละ 19.69 กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก คือ การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร

ส่วนกลุ่ม Micro ที่เป็นนิติบุคคล พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ คิดเป็นร้อยละ 56.33 กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจก่อสร้างอาคาร รองลงมาอยู่ในภาคการค้า คิดเป็นร้อยละ 31.99 กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก เช่น การขายส่งยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์ และ ภาคการผลิต คิดเป็นร้อยละ 11.68 กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร

เมื่อพิจารณาด้านการส่งออก พบว่า กลุ่ม Micro และ SME หรือ MSME มีบทบาทด้านการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 910,089.90 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.36 ของการส่งออกรวมของประเทศ กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง มีมูลค่า 549,025.80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.06 รองลงมาเป็นธุรกิจขนาดย่อม มีมูลค่า 258,212.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.79

ขณะที่กลุ่ม Micro มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 102,851.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.51 ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญ คือ ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และยานยนต์และส่วนประกอบ โดยมีตลาดสำคัญ คือ จีน เวียดนาม และ สปป.ลาว

จะเห็นได้ว่ากลุ่ม Micro มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ การกำหนดลักษณะเฉพาะตัวที่ชัดเจนของแต่ละกลุ่ม จะช่วยให้ภาครัฐกำหนดนโยบายและมาตรการการส่งเสริมได้มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูล ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่สะท้อนระดับการพัฒนาของวิสาหกิจแต่ละกลุ่มที่ชัดเจน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับบริการและผลการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป