จากซ้ายไปขวา:
1. นายสิตมน รัตนาวะดี ผู้ช่วยฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
2. นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
3. นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
4. ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
5. ศ. นท. หญิง พญ.ศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา รองคณบดีฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
6. อ. นพ. ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
7. ผศ. นพ. ภาวิทย์ เพียรวิจิตร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มอบเงินสนับสนุนจำนวน 20 ล้านบาทแก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจจำนวน 5 เครื่อง และเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (เครื่องเอคโม – ECMO) จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเครื่อง ECMO มีศักยภาพในการทำงานทดแทนปอดและหัวใจได้ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ปอดหรือหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือเกิดความผิดปกติขึ้น นับเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญและขาดแคลนท่ามกลางการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ที่ผ่านมากัลฟ์ได้มีการมุ่งดำเนินโครงการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง สำหรับในโอกาสนี้บริษัทฯ ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเยอะ เราจึงขอมอบเงินสนับสนุนจำนวน 20 ล้านเพื่อให้ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่อรองรับและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ป่วย COVID-19 รวมถึงยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคปอดและหัวใจต่อไปได้อีกด้วย”
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้ ก็ทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องเร่งเตรียมการในการรักษาผู้ป่วยขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเครื่อง ECMO และเครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ในสถานการณ์เช่นนี้”
สำหรับการติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ผู้ป่วยร้อยละ 85 มีอาการน้อย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่เรากังวลกลุ่มร้อยละ 15 ที่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีอาการรุนแรง ลุกลามอย่างรวดเร็ว ปอดอักเสบ ต้องช่วยการหายใจด้วยอุปกรณ์พิเศษอย่างเครื่อง ECMO ที่ทำหน้าที่เหมือนปอดและหัวใจเทียม”
“สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยยังเป็น Golden Period ที่ผู้ติดเชื้อยังไม่มาก แต่เริ่มเพิ่มขึ้น สถานการณ์ยังเป็นไปได้สองทางคือ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบบใน สิงคโปร์ หรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ อิตาลี อิหร่าน บุคลากรทางการแพทย์หวังว่าจะเป็นแบบแรก เพื่อที่บุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์จะยังมีเพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งการป้องกันนั้นย่อมสำคัญกว่าการรักษา ยิ่งยังไม่มีวัคซีน เราจึงขอให้ทุกคนร่วมกันดูแลตัวเอง เพื่อที่จะได้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน” รศ. ดร. พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (เครื่อง ECMO) ใช้เพื่อประคับประคองเพื่อรอให้อวัยวะกลับมาทำงานเป็นปกติ เช่น ภาวะการหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ปอด รวมถึงประคับประคองระหว่างรอการปลูกถ่ายหัวใจหรือปอด นับเป็นอีกนวัตกรรมทางแพทย์ที่ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล