ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ทรงอิทธิพลต่อทั่วทั้งโลก โดยมีผลกระทบโดยตรงต่อทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ทั้งในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค สภาพสังคมโดยรวม รวมถึงเศรษฐกิจ
ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดสำหรับเวลานี้สำหรับบุคลากรในแวดวงการตลาดและการสื่อสาร โดย กรุ๊ปเอ็ม (GroupM) กลุ่มเอเยนซี่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบริหารจัดการการลงทุนด้านสื่อชั้นนำระดับโลกในเครือ ดับบลิวพีพี (WPP) ได้ทำการสรุปผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับนักการตลาด, นักโฆษณา และเจ้าของสื่อที่ต้องเร่งปรับแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มทางเศรษฐกิจและผลกระทบ
ผลการวิจัยล่าสุดจากธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ Research) พบว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจ ตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับตลาดการค้าหลักอย่างประเทศจีนมีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก
จากเดิมที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกคาดการณ์ไว้ ว่าจะเติบโต 3% ตลอดทั้งปี แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มจะลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 1 แต่อาจจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลงเหลือเพียง 1% ทั้งนี้ทุกธุรกิจยังคงต้องจับตาดูแนวโน้มการระบาดและมาตรการรับมืออย่างใกล้ชิดในระยะยาว
ผลกระทบต่อผู้บริโภคและตลาด
ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถานที่ทำงาน, สถานศึกษา, ร้านค้า และโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากการปิดทำการชั่วคราว สำหรับภาคประชาชนหรือผู้บริโภคการเดินทางด้วยการโดยสารสาธารณะกลายเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังพบว่าว่าเทรนด์การค้นหาคำหรือข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ, ไวรัสโควิด-19 และหน้ากากอนามัย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสูงกว่าช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่หลายเท่าตัว
คำว่า โควิด (COVID) กลายเป็นเทรนด์ที่ขึ้นสูงที่สุดในช่วงกลางเดือนมีนาคม ทั้งที่เพิ่งได้รับการเรียกในสื่อต่าง ๆ แทนคำว่าไวรัสโคโรนา
จากสถานการณ์นี้เป็นเหตุให้มีผู้บริโภคเลือกที่จะจำกัดตัวเองให้อยู่ในบริเวณบ้านมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้จำนวนการติดตามสถานข่าวสารผ่านทางช่องทางสื่อทั้งทางออนไลน์และทีวีสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความบันเทิง
การตื่นตัวของผู้บริโภค และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
นอกจากยอดการค้นหาและยอดการค้าปลีกสินค้าประเภทสุขอนามัยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว พบว่ายอดค้าปลีกบนออนไลน์มาร์เกตเพลสหลักอย่าง ‘ลาซาด้า’ มีการเติบโตขึ้นกว่า 50% ตลอดทั้งไตรมาสฯ และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากการที่ออนไลน์มาร์เกตเพลส รวมถึงร้านค้าปลีกรายย่อยบนระบบออนไลน์พร้อมใจกันออกแคมเปญกระตุ้นยอดขายเพื่อรับโอกาสทางการค้า
ในส่วนของผู้บริโภค พบว่าสำหรับสินค้าบางประเภทที่ไม่ได้รับความนิยมในการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงแบรนด์ที่เน้นขายในช่องทางหน้าร้านเป็นหลักอย่างเช่นบริการร้านอาหาร จะเห็นได้ว่าผู้จำหน่ายได้เริ่มมีการปรับตัวรวมถึงปรับช่องทางการขายเพื่อรับมือกับสถานการณ์
นี่คือโอกาสสำคัญของอีคอมเมิร์ซ และสินค้าประเภทที่มีบริการจัดส่งถึงบ้าน ด้วยแรงหนุนของพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงพฤติกรรมที่ผู้คนนิยมใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น
อ้างอิง:
http://www.groupmthailand.com/insightm/index/detail/16