ต้องอ่าน! 6 เทคนิคร้านเดลิเวอรี่มือใหม่ ทำอย่างไรให้ยอดขายพุ่ง ธุรกิจประสบความสำเร็จ


ด้วยสถานการณ์ที่ร้านอาหารที่ต้องทำตามมาตรการของรัฐบาลที่สั่งห้ามไม่ให้ลูกค้านั่งรับประทานภายในร้าน จึงทำให้ดูเหมือนว่าบริการแบบเดลิเวอรี่จึงเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นทางออกที่ดีทั้งกับผู้ประกอบการที่ยังคงขายอาหารได้อยู่ และผู้บริโภคที่ไม่ต้องเดินทางออกจากที่พัก ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารหลายรายมีความสนใจที่อยากจะเข้ามาใช้บริการแบบเดลิเวอรี่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะประสบความสำเร็จ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีเรามาดู 6 เทคนิคพื้นฐานสำหรับเป็นทิศทาง และสร้างความมั่นใจในการเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ซึ่งทาง LINE MAN ได้รวบรวมไว้ให้เป็นที่เรียบร้อย ดังต่อไปนี้

1.สร้างจุดเด่นให้กับร้าน นำเสนอเมนูให้โดน

เรียกได้ว่าปัจจุบันร้านอาหารมีทั้งแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็กอยู่กันเต็มไปหมด ผ่านตาลูกค้าวันละหลาย ๆ ร้าน หากเราทำแบบทั่ว ๆ ไป ร้านอาหารก็ไม่อาจเป็นที่จดจำได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรดึงจุดเด่นของแบรนด์ รวมถึงเมนูอาหารสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจขึ้นมา เช่น ความพิเศษของวัตถุดิบ, วิธีการปรุง, ที่มาของเมนู รวมไปถึงการเชิญชวนโดยให้ลูกค้าถ่ายรูปคู่กับเมนูอาหาร และโปรโมทร้านผ่านตามสื่อโซเชียลมีเดีย

 

 

2.มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ว่าเป็นใคร

การที่เรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร อยู่ในประเภทไหน คือการบ้านข้อแรกที่ผู้อยากเปิดร้านอาหารควรทำ เพราะจะได้สร้างสรรค์เมนูที่สอดคล้อง และกำหนดราคาที่เหมาะสม

 

 

3.เมนูไม่ต้องเยอะจนเกินไป

หากไม่ใช่ร้านอาหารที่ลูกค้าคุ้นเคยมาก และยังเป็นหน้าใหม่อยู่ด้วย การมีเพียงไม่กี่เมนูคือกลยุทธ์ที่เหมาะกับการเริ่มต้นขายอาหารผ่านช่องเดลิเวอรี่ โดยร้านอาหารที่ขายอาจจะมีเมนูอาหารซิกเนเจอร์สัก 1-3 เมนู ซึ่งการมีเมนูอาหารไม่มากนักจะช่วยให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการควบคุมต้นทุน และวัตถุดิบอีกด้วย

 

 

4.มีโปรโมชันสำหรับบริการเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าลูกค้าที่สั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่กับไปนั่งรับประทานที่ร้านอาหารนั้นมีความแตกต่างกัน หากมีโปรโมชันที่ตอบสนองความต้องการทานที่บ้านก็ช่วยดึงดูดลูกค้า และเพิ่มยอดขายได้ไม่ยาก สำหรับตัวอย่างโปรโมชัน เช่น เมนูเสริมในราคาพิเศษเพื่อดึงดูดใจให้ลูกค้าสั่งทานคู่กับเมนูหลัก หรือจัดชุดอาหารที่สามารถทานได้ทั้งวัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการ

 

 

5.เลือกเมนู และทำในปริมาณที่เหมาะสม

ไม่ใช่ทุกเมนูที่สามารถจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการควบคุมคุณภาพของอาหารที่อาจจะขนส่งไม่สะดวก เช่น ชาบู, ปิ้งย่าง ดังนั้น ควรพลิกแพลงปรับมาเป็นเมนูผัด หรือต้มสำเร็จรูปพร้อมทาน หากกรณีเป็นเมนูขนาดใหญ่ก็สามารถปรับขนาดให้เหมาะสมรับประทาน 1-2 คน เพื่อง่ายต่อการทาน และขนส่ง

 

 

6.อย่ามองข้ามบรรจุภัณฑ์

บรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับเดลิเวอรี่ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยต้องคำนึงว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้จะช่วยรักษาคุณภาพอาหารทั้งรสชาติ และหน้าตาให้คงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันบรรจุภัณฑ์แบบ Reuse สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือแบบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ