ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายธนาคารต่าง ๆ ในประเทศเริ่มออกมาเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสแรกของธุรกิจ ประจำปี 2563 สำหรับปีนี้ตัวเลขผลประกอบการจะเป็นอย่างไรมาดูกัน
ธนาคารกสิกรไทย
ในไตรมาสแรกของปี 2563 ธนาคารกสิกรไทยมีรายได้รวม 35,454 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,581 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่ากำไรสุทธิลดลง 3,463 ล้านบาท คิดเป็น 34.47% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,830 ล้านบาท หรือ 11.21% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีรับดอกเบี้ยที่แท้จริง

ธนาคากรุงไทย
ในไตรมาสแรกของปี 2563 ธนาคารกรุงไทยมีรายได้รวม 30,482 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,082 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่ากำไรสุทธิลดลง 16.7% โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และมีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่มาจากการได้รับเงินบางส่วนจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองจำนวน 3,899 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562 แม้ว่าธนาคารมีการบริหารจัดการทางเงินที่ดีทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลงซึ่งมีสาเหตุหลักจากการขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายในไตรมาสแรกของปี 2562

ธนาคารไทยพาณิชย์
ในไตรมาสแรกของปี 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์มีรายได้อยู่ที่ 37,641 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 9,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้รวมที่ขยายตัว 9% จากปีก่อน พร้อมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง ขณะเดียวกันธนาคารได้ตั้งเงินสำรองสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 25,777 ล้านบาท เพิ่มข้น 4% จากปีก่อน สาเหตุมาจากการปรับพอร์ตสินเชื่อที่เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง และจากการเปลี่ยนการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 ซึ่งเปลี่ยนการบันทึกอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
ธนาคารกรุงเทพ
ในไตรมาสแรกของปี 2563 ธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิ 7,671 ล้านบาท ลดลง 15% ของช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,028 โดยไตรมาส 1 ปี 2563 ธนาคารกรุงเทพมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น15.3% จากไตรมาส 4 ปี 2562 จากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ที่ 2.52 % ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 22.4 % ส่วนใหญ่ลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ในไตรมาสแรกของปี 2563 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีกำไรสุทธิ 7,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 596 ล้านบาท หรือ 9.3% จากไตรมาส 4 ของปี 2562 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีการรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายใต้กรอบมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ของปี 2562 พบว่ากำไรจากการดำเนินงานลดลง 4,271 ล้านบาท หรือ19% เนื่องจากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นร้อยละ 50 ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 8,625 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2562
ธนาคารรายได้ลดลง

จะเห็นได้ว่าธนาคารส่วนใหญ่จะมีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน โดยมีปัจจัยมาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในมุมกว้างจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องหยุดชะงัก และไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งแต่ละธนาคารก็ได้มีการออกมาประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะต่ำกว่าที่คาดการณืไว้
อีกทั้ง ธนาคารต้องขานรับสนับสนุนนโยบายของภาครัฐฯ ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MLR, MOR และ MRR เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ รวมถึงการที่ธนาคาร และบริษัทย่อยต้องถือปฏิบัติตามรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลต่อการจัดประเภทรายการใหม่ เช่น การวัดมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินและหนี้สินทางการเงิน การบัญชีป้องกันความเสี่ยง