แบงก์ชาติตอบ 10 ประเด็นคาใจ SME รายไหนมีสิทธิกู้ soft loan ดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี ได้บ้าง


หากท่านเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากการระบาดของโรคโควิด 19 และกำลังมองหา “มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของแบงก์ชาติ” โดยคิดดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการทำธุรกิจในช่วงไวรัสแพร่ระบาด 

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอ 10 ข้อเท็จจริงที่หลายคนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของแบงก์ชาติ ดังนี้

 

1. SMEs ที่จะขอความช่วยเหลือต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

  • คุณสมบัติของ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีสิทธิตามมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ประกอบด้วย

1. เป็นบุคคลที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย
2. ไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3. ไม่เป็น NPL ของสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพราะต้องการดูแลผู้ที่มีศักยภาพที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นหลัก
4. ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
5. วงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยจะขอกู้ใหม่ได้ไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างที่มีกับสถาบันการเงิน

 

2. SMEs ที่ขอ soft loan ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่

  • ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมใด ๆ ในการขอ soft loan แบงก์ชาติ

 

3. SMEs จะขอ soft loan เกิน 20% ของหนี้เดิมได้หรือไม่

  • SMEs จะขอ soft loan ได้ไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 เท่านั้น
    หากต้องการขอกู้เงินเพิ่ม สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะพิจารณาตามความสามารถของผู้ประกอบการและอาจกำหนดเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 2% ในส่วนที่สถาบันการเงินให้เพิ่มเอง ไม่เกี่ยวกับ soft loan

 

4. สอบถามสถาบันการเงิน ได้รับแจ้งว่า soft loan หมดแล้วเป็นความจริงหรือไม่

  • ไม่จริง soft loan แบงก์ชาติ ยังคงเหลืออยู่ เพราะมีวงเงินรวมถึง 5 แสนล้านบาท และเพิ่งเปิดรับคำขอสินเชื่อเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 แต่อาจมีความเข้าใจสับสนกับ soft loan ของธนาคารออมสิน ที่อาจจะเต็มวงเงินแล้ว

 

5. SMEs ที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงินจะขอ soft loan แบงก์ชาติ ได้หรือไม่

  • ไม่ได้ เนื่องจาก soft loan แบงก์ชาติ กำหนดให้เฉพาะลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงิน เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเพื่อการบริหารความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียของสถาบันการเงิน สำหรับ SMEs รายใหม่ สามารถติดต่อขอสินเชื่อได้จากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดต่างจาก soft loan แบงก์ชาติ

 

6. SMEs ที่ขอ soft loan แบงก์ชาติ ต้องซื้อประกันรูปแบบต่าง ๆ ถึงจะได้สินเชื่อนี้จริงหรือไม่

  • ไม่จริง การทำประกันรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกหนี้ ไม่มีผลในการขอ soft loan

       อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินสามารถเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อได้ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ต้อง         ไม่บังคับทำประกันชีวิต และไม่กำหนดเป็นเงื่อนไขให้ได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

 

7. สมัคร soft loan ของธนาคารออมสินแล้ว สมัครของแบงก์ชาติได้อีกหรือไม่

  • ได้ แต่ธนาคารอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามมาตรการนี้แก่ลูกหนี้ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือในลักษณะคล้ายคลึงกันมาก่อน เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง

 

8. วงเงินสินเชื่อธุรกิจที่เข้ามาตรการนี้ ได้นับรวมสินเชื่อที่นำที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักประกันด้วยหรือไม่

  • นับรวม ถ้าลูกหนี้แจ้งวัตถุประสงค์การกู้ยืมกับสถาบันการเงินตั้งแต่แรกว่าเป็นสินเชื่อธุรกิจ
    แต่หากเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะไม่เข้าเกณฑ์ soft loan แบงก์ชาติ ทั้งนี้ สินเชื่อที่ถูกนำมานับรวมสำหรับขอ
    soft loan ของแบงก์ชาตินั้น จะนับรวมเฉพาะยอดคงค้างสินเชื่อธุรกิจทุกประเภทของแต่ละสถาบันการเงิน

     ***ยกเว้น สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และวงเงินสินเชื่อ       บัตรเครดิต

 

9. มีสินเชื่อกับหลายธนาคาร แต่เป็น NPL อยู่กับบางธนาคาร จะขอ soft loan แบงก์ชาติได้หรือไม่

  • สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่ท่านยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติได้ 

 

10. ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือแจ้งปัญหาในการขอ soft loan แบงก์ชาติ ช่องทางไหนได้บ้าง

  • สามารถติดต่อได้ทาง Call Center ของสถาบันการเงินนั้น ๆ และ หากพบว่ามีการทุจริต หรือมีปัญหาในการขอ
    soft loan สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213

 

ขอบคุณที่มา : www.bot.or.th

 

คลิกอ่าน