เปรียบเทียบกันให้ชัด “บริษัท” กับ “บุคคลธรรมดา” ทำธุรกิจแบบไหนเสี่ยงน้อยที่สุด


ปัจจุบันการทำธุรกิจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.รูปแบบของบุคคลธรรมดา และ 2.รูปแบบนิติบุคคล ซึ่งธุรกิจแต่ละรูปแบบก็จะมีการกำหนดแนวทางที่ต่างกันออกไป ตลอดจนมีผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโอกาสการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน

สำหรับบทความนี้ Smartsme จะพามาเปรียบเทียบกันว่าระหว่างธุรกิจในรูปแบบของ “บริษัท” และ “บุคคลธรรมดา” มีข้อดี – ข้อเสียในด้านต่างๆ อย่างไรบ้าง

ด้านการทำบัญชี

  • “บริษัท” จะต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี และจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พร้อมกับรับรองบัญชี ประกอบด้วย มีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือในแต่ละธุรกรรม, รู้สภาพปัจจุบันของธุรกิจ ทั้งกำไร/ขาดทุน/ต้นทุน, รู้สถานะที่แท้จริงของกิจการ และนำข้อมูลมาใช้วางแผนทางธุรกิจ
  • “บุคคลธรรมดา” จะต้องจัดทำรายงานเงินสดรับจ่าย ตามมาตรา 40(5) (6) (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมา หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ตาม มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเงินสดรับจ่ายดังกล่าว

ด้านความน่าเชื่อถือ

 

  • “บริษัท” มีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งกับหน่วยงานของภาครัฐ รวมถึงมีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐาน
  • “บุคคลธรรมดา” มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า เพราะการจัดตั้งทำได้ง่าย มีข้อบังคับทางกฎหมายน้อย อีกทั้งยังไม่ได้ทำบัญชีมาตรฐานที่กำหนด นำมาสู่ข้อมูลในกิจการที่ยังไม่ครอบคลุมพอ

ด้านความรับผิดชอบในหนี้สิน

 

  • “บริษัท” มีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะมีการแยกส่วนออกกันอย่างชัดเจนระหว่างกิจการ และเจ้าของกิจการ ดังนั้นหากเกิดหนี้สินก็จะไม่รวมกัน
  • “บุคคลธรรมดา” เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงมากกว่า เพราะเกิดหนี้สินขึ้นมาเจ้าของธุรกิจจะรับไปคนเดียวไปเต็ม ๆ

ด้านการหักภาษีค่าใช้จ่าย

  • “บริษัท” มีหลักฐานการหักรายจ่าย จากการทำธุรกิจที่สามารถพิสูจน์ได้ รวมถึงยังได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐที่จะมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจออกมาอยู่เรื่อยๆ และยังสามารถหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินบางประเภทในอัตราเร่งได้
  • “บุคคลธรรมดา” เงินได้บางประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ 1.หักในอัตราเหมา ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด 2.หักตามความจำเป็นและสมควร

ด้านการเสียภาษี

  • “บริษัท” เสียภาษีจากกำไรสุทธิ (รายได้ – รายจ่าย) และถ้าขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี และยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรปีต่อไปได้สูงสุด 5 ปี
  • “บุคคลธรรมดา” คำนวณภาษี 2 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีก้าวหน้า และวิธีที่ 2 รายได้นอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าแรงงานก่อนหักค่าใช้จ่าย x 0.5%

ด้านอัตราภาษี

  • “บริษัท” มีอัตราการเสียภาษี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ 1.นิติบุคคลทั่วไป 20% และ 2. SME ที่มีอัตราภาษีสูงไม่เกิน 20% รอบระยะเวลาบัญชี 2561 แบ่งตามกำไรสุทธิ 0-300,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนกำไรสุทธิ 300,001-3,000,000 บาท เสียภาษีอัตรา 15% และกำไรสุทธิ 3,000,000 บาทขึ้นไป เสียภาษีอัตรา 20%
  • “บุคคลธรรมดา” เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35%