การเติบโตของ “Food delivery” ที่พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้การแข่งขันร้อนแรงยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการในตลาดต่างพยายามวางเกมทั้งแนวรุก แนวรับเพื่อชิงความได้เปรียบ
ซึ่งกลยุทธ์หลัก ๆ ที่นำมาฟาดฟันกันคือการขยายฐานพาร์ทเนอร์ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับขี่ หรือ จำนวนร้านอาหารเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการ และกลยุทธ์ไม้ตายอย่างที่จะปฏิเสธไม่ได้คือ “ราคา” อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาถือว่าเกมนี้เพิ่งเริ่มต้น เพราะการชิงความเป็นผู้นำที่ต่างเคลมว่าเป็นที่ 1 ไม่ว่าแกร็บ ฟู้ด หรือ ไลน์แมนนั้นยังต้องวัดกันอีกยาวไกล
ถูก-เร็ว-ดีมีที่ Grab food
ในปีที่ผ่านมาฟู้ด เดลิเวอรี่ ถือเป็น New S-Curve สำหรับแกร็บจากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะวางกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะราคาที่นำมาใช้เพื่อให้การตัดสินใจง่าย ทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้บริการสู่กลุ่มใหม่ ๆ โดยเริ่มต้นที่ 10 บาท ในระยะทาง 5 กิโลเมตรแรก ซึ่งเป็นราคาต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ขณะที่ระยะทางต่อไปเพิ่ม 10 บาทต่อกิโลเมตรโดยจะให้บริการในส่วนนี้อีกไม่เกิน 10 กิโลเมตรและจะรับอาหารภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที
สำหรับฟันเฟืองในการทำราคาให้ต่ำมาจาการโฟกัสพื้นที่ให้บริการในระยะสั้นและจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับที่ขณะนี้มีถึง 150,000 ราย ซึ่งการให้บริการในพื้นที่ไม่ไกลจะช่วยให้ผู้ขับทำจำนวนรอบในการส่งได้มาก ขณะเดียวกันก็เป็นความได้เปรียบเนื่องจากสามารถส่งอาหารได้เร็ว ได้รสชาติที่ปรุงสดใหม่ ส่วนจำนวนร้านอาหารพันธมิตรในแกร็บฟู้ด มีมากกว่า 20,000 รายหลากหลายประเภท ซึ่งการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เหล่านี้เป็นสิ่งที่แกร็บให้ความสำคัญมากโดยมีการนำบิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยในการวางแผนด้านการจัดการ
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีร้านลักษณะเครือข่ายหรือเชนเข้ามาร่วมให้บริการผ่านแกร็บเพิ่มขึ้น อาทิ สตาร์บัคส์ ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ 6 แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ควีน เบอร์เกอร์คิง เดอะ คอฟฟี่ รวมถึงเอ็มเค เป็นต้น โดยขณะนี้แกร็บสามารถกระจายพื้นที่บริการได้แล้วใน 18 จังหวัด
ในจุดแข็งยังมีจุดอ่อน
สำหรับจุดแข็งด้านราคาและระยะเวลาในการจัดส่งที่รวดเร็ว กลับทำให้แกร็บมีข้อจำกัดด้านพื้นที่การให้บริการทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถสั่งอาหารที่ต้องการได้หากอยู่ไกลเกินระยะทางที่กำหนด ซึ่งแกร็บพยายามปิดจุดอ่อนนี้ด้วยการพัฒนาคลาวด์คิทเชน (Cloud Kitchen) หรือครัวกลาง ด้วยการจัดพื้นที่ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงแต่อยู่ห่างพื้นที่มาประกอบอาหารเฉพาะบริการเดลิเวอรี่ โดยการเลือกร้านจะดูความต้องการจากประวัติการค้นหาของผู้ใช้บริการในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การเลือกร้านอาหารจะสอดคล้องกับความต้องการ
โดยแกร็บ คิทเช่นแห่งแรกอยู่ที่ตลาดสามย่านชั้น 2 ซึ่งเป็นทำเลที่เชื่อมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่างสยาม สีลมและสาทร ซึ่งรวบรวมร้านอาหารมาเข้ามาไว้ 12 ร้าน อาทิ บราวน์คาเฟ่ เอลวิสสุกี้ ป.เจริญชัย ไก่ตอน ตำป๊อกป๊อก ฯลฯ และร้านอาหารจากเครือเซ็นทรัลอีก 5 ร้าน
นอกจากนี้แกร็บยังกระตุ้นการใช้บริการด้วย “Promotion” เริ่มจากการโปรแกรมสะสมคะแนนผ่านแกร็บรีวอร์ดส์ซึ่งล่าสุดได้ปรับให้สะสมได้ง่ายและเพิ่มโอกาสในการเป็นสมาชิกแพลตตินั่มได้เร็วขึ้น โดยแต่ละคะแนนที่สะสมจะไม่หมดอายุ รวมถึงการจัดแคมเปญร่วมกับพันธมิตรเพื่อเสนอดีลพิเศษเช่น แคมเปญ“แกร็บ 11.11” ที่ร่วมกับพันธมิตร 400 รายกับแคมเปญ 1 แถม 1 ตลอดเดือน เป็นต้น
จากการขับเคลื่อนการตลาดเชิงรุกส่งผลให้แกร็บฟู้ดมีตัวเลขที่เคลมว่าเป็นที่ 1 ในตลาดจากช่วง10 เดือนของปี 2562 มีการใช้บริการ 120 ล้านครั้ง ขณะที่ผลจากกันตาร์ บริษัทการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึกก็พบว่าแกร็บฟู้ดครองอันดับหนึ่งในฐานะแบรนด์โปรดของลูกค้าในการสั่งอาหารออนไลน์ ในอัตรา 54% ของผู้บริโภคในไตรมาส 3 ของปี2562 โดยแบรนด์คู่แข่งอยู่ที่ 21%
LINE MAN ประกาศชัด “ราคา” ไม่จำเป็น
สำหรับบริการไลน์แมนเข้าสู่ตลาดฟู้ด เดลิเวอรี่ด้วยกลยุทธ์ Strategic Partner จากการจับมือกับ“วงใน”เว็บไซต์และแอปพลิเคชันค้นหาและรีวิวร้านอาหารอันดับ 1 โดยจะสนับสนุนข้อมูลร้าน รูปภาพ เมนูและการรีวิวซึ่งวงในมีข้อมูลค่อนข้างมากสามารถเข้ามาช่วยให้ฟู้ด ดิลิเวอรี่ของไลน์แมนแตกต่างจากคู่แข่งขันรายอื่น ๆ เพราะมีความวาไรตี้และข้อมูลร้านอาหารหรือการรีวิวอาหารที่ช่วยเลือกช่วยตัดสินใจได้
ส่วนการจัดส่งร่วมกับลาล่ามูฟผู้ให้บริการส่งสินค้าแบบ On-Demand Delivery ซึ่งขณะนี้มีพนักงานให้บริการจัดส่งประมาณ 40,000 คน ซึ่งการเลือกใช้กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ต่างฝ่ายต่างอาศัยจุดแข็งซึ่งกันและกันเข้ามาเอื้อให้การเติบโตของกับไลน์แมนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะนี้มีร้านอาหารเป็นพันมิตรราว 50,000 ร้านซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าคู่แข่งขัน แม้จะครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดคือกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรีก็ตามและประมาณ 80% เป็นสตรีทฟู้ด ขณะนี้ฐานผู้ใช้บริการไลน์แมนที่เป็นแอ็กทีฟ ยูสเซอร์ ประมาณ 1.5 ล้านราย โดยจำนวนที่ไลน์เคลมนี้ ทำให้ไลน์กล้าที่จะบอกว่าขณะนี้ไลน์แมน คือผู้นำในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่
พลิกเกมสู้รับมือตลาดแข่งเดือด
จุดอ่อนของไลน์แมนที่ชัดเจนคือราคาการให้บริการสูงกว่าคู่แช่งขันโดยเริ่มต้น 55 บาทในระยะทางเพียง 1 กิโลเมตรแรกเท่านั้น และบวกเพิ่มตามระยะทาง 9 บาท/กม.ซึ่งเป็นอัตราที่คิดแยกจากราคาอาหาร ขณะที่คู่แข่งอาจจะมีการบวกราคาค่าอาหารเพิ่มในบางร้าน
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยด้านกำลังซื้อที่ลดลงและเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ไลน์แมนได้เริ่มชิมลางกับกลยุทธ์ราคาด้วยโปรโมชั่นแบบเหมาในราคาเริ่มต้น 29 บาท ในกรณีที่สั่งอาหารจากร้านรอบรัศมี 6 กิโลเมตรซึ่งมีกว่า 1,000 ร้าน
รวมถึงความพยายามสร้างความต่างด้วยกลยุทธ์การพัฒนาบริการที่สร้างคุณค่าทางความรู้สึก (emotional value) ผ่านกลยุทธ์ moment marketing ผ่านเทศกาลต่างๆและตามโร้ดแมปของไลน์ ต้องการที่จะเจาะตลาดต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่ๆ ให้ครอบคลุม 25% ของทั้งประเทศภายในปี 2563 ซึ่งล่าสุดได้เปิดพื้นที่ให้บริการเพิ่มที่พัทยาเป็นที่เรียบร้อย