ผลสำรวจชี้ 79% ของผู้บริโภคอยากกลับไปกินอาหารในร้าน พร้อมลดความถี่สั่ง Food Delivery ลง


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้แบบแต่ก่อน แต่จะเป็นในลักษณะซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านแทน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากภาครัฐฯ มีการผ่อนปรนให้ลูกค้าสามารถกลับมานั่งรับประทานอาหารภายในร้านเหมือนเคย แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ออกมา เช่น ต้องเว้นระยะห่าง ไม่สามารถนั่งรับประทานเป็นกลุ่มได้

การสำรวจของ Kantar Worldpanel บริษัทด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก ที่เก็บตัวอย่างผู้บริโภคจำนวน 1,638 ราย อายุระหว่าง 15-49 ปี ตั้งแต่วันที่ 10-16 เมษายน 2563 พบว่าตั้งแต่มีการห้ามรับประทาอาหารภายในร้าน ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา การจับจ่ายรายสัปดาห์สำหรับ Packaged Foods ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสูงถึง 40% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย สวนกับสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่าง Beverage Homecare และ Personal Care สอดคล้องกับ ผู้บริโภค 38% ที่สั่งอาหารมากขึ้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด-19

แต่ดูเหมือนว่ากระแส Food Delivery จะมาเพียงแค่ระยะสั้น เมื่อผู้บริโภค 79% บอกเขารอไม่ไหวที่จะกลับไปทานอาหารในร้าน และจะลดความถี่ในการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery อีกทั้ง พฤติกรรมการซื้อจำนวนมากหรือกักตุนจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยผู้บริโภคเข้าใจดีว่าร้านขายของชำและร้านค้าปลีกยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

แม้ว่า ภาครัฐฯ จะผ่อนปรนให้ลูกค้ากลับมานั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ แต่มาตรการ Social Distancing และยังเวลาให้บริการ ยังทำให้ผู้บริโภคชาวไทยยังคงทำอาหารที่บ้าน และสั่งอาหารจาก Food Delivery จนกว่าจะรู้สึกปลอดภัย และมีความมั่นใจเหมือนแต่ก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมในการรักษาหรือวัคซีนที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของ โควิด-19 อาจเปลี่ยนแปลงวิถีการจับจ่ายในระยะสั้น แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ “ความต้องการด้านสะดวกสบาย คุ้มค่าเงิน และคุณประโยชน์ทางสุขภาพและโภชนาการ”