เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สถานการณ์โควิด ได้ส่งผลต่อภาคธุรกิจในทุกสาขา และในทุกขนาดของกิจการ บางส่วนได้อานิสงส์ในเชิงบวก โดยมีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกหลายส่วนได้รับผลกระทบในเชิงลบ โดยที่มีความรุนแรงสุด คือ การปิดกิจการ
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า ถ้าควบคุมโควิด-19 ได้ ภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ จะมีคนตกงานอยู่ที่ราว 7 ล้านคน แต่ถ้ายืดเยื้อต่อไปถึงเดือนกันยายนและตุลาคม ปี 2563 จะมีคนตกงานมากเป็น 10 ล้านคน และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ จะต้องเกิดการสร้างงานก่อน ซึ่งยังต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจถึงปี เฉพาะฟื้นฟู (ฐานเศรษฐกิจ, 8 พ.ค. 63)
นับตั้งแต่ที่โควิดเกิดขึ้น นอกจากกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งใช้ในภาวะปกติ จะไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ตามที่เคยเป็นแล้ว องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติในห้วงเวลาดังกล่าว
กลยุทธ์ภาคธุรกิจเพื่อต่อกรกับโควิด จำต้องถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในแต่ละระยะ ซึ่งจะจำแนกออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์โดยทันทีหรือในช่วงสั้น (Response) กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) และกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience)
กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์ (Response) จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังการเกิดการแพร่ระบาดและทอดระยะเวลาไปได้หลายสัปดาห์ จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในหน่วยงาน การเพิ่มความตระหนักถึงความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ การตรวจคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อ การสำรวจผู้ร่วมงานที่อยู่ในข่ายสัมผัสโรคเพื่อกักกันและสังเกตอาการ การพิจารณาปิดบริเวณหรือสถานประกอบการชั่วคราว เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานประกอบการในการโทรแจ้งและติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่พบพนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันติดเชื้อโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการ ตลอดจนมาตรการในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home)
กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) จะมุ่งเน้นที่การฟื้นสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ รวมทั้งการฟื้นตัวของยอดขาย การเข้าถึงตลาด การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางการจัดจำหน่าย โลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้า โดยสิ่งท้าทายสำคัญของกลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คือ การดำเนินต่อไปได้ของสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลักของกิจการ การปรับปรุงข้อตกลงทางธุรกิจที่เกื้อหนุนผู้ส่งมอบและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจที่ถูกกระทบ และการเชื่อมโยงไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระยะยาวและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในห่วงโซ่ธุรกิจ
กลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) จะมุ่งไปยังการปรับตัวทางธุรกิจให้กลับคืนสภาพ ด้วยมาตรการที่คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน โดยหลีกเลี่ยงการสร้างกลไกที่ต้องอาศัยการพึ่งพาจากภายนอกเป็นหลัก เนื่องเพราะประเด็นความยั่งยืนถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การปรับตัวคืนสู่สภาพปกติเกิดผลสัมฤทธิ์ การให้ความมั่นใจแก่บุคลากรในส่วนของอาชีพและรายได้ การดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์แพร่ระบาดสิ้นสุด เนื่องจากสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของกิจการที่มีโอกาสปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Response และช่วง Recovery จะมีส่วนสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์ เพื่อมิให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่เกิดความชะงักงัน โดยอาศัยแก่นธุรกิจและทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ เป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ส่วนการดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Resilience จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการพัฒนาใหม่ๆ ทางธุรกิจ ที่จะต้องดำเนินตามในเวลาต่อมา และนำกลับเข้าสู่วิถีทางที่ประกอบด้วยเสถียรภาพ การเติบโต และการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยทั่วไป กรอบเวลาของระยะการรับมือ (Response) จะเป็นหลักสัปดาห์ ส่วนระยะการฟื้นฟู (Recovery) จะอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งปี และเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงของการปรับตัว (Resilience) โดยใช้เวลาสามปีขึ้นไป สืบเนื่องจนเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาในระยะยาว