เช็คเลย! ธุรกิจไหนจะ “ฟื้น”หรือ “ฟุบ” หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินเวลามาหลายเดือนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ หรือต้องหยุดชะงัก เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเหมือนอย่างแต่ก่อน

การคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) ต่างวิเคราะห์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจ และการค้าโลกในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ -3.0 และ -12.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาตามลำดับ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 63 เป็นอย่างไร

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับเลขตัวเดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังถือว่ารุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย และอาจจะมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ธนาคารแห่งประเทศไทยและ IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจมีแนวโน้มหดตัวสูงถึงร้อยละ -5.3 และ -6.7 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าในระดับที่สูงมาก ระบบเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัจจัยภายนอกรุนแรง ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงการส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอตัว/หดตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นอาเซียน (สัดส่วนส่งออก : 25.5%) สหรัฐฯ (สัดส่วนส่งออก : 12.8%) จีน (สัดส่วนส่งออก : 11.8%) ญี่ปุ่น (สัดส่วนส่งออก : 10.0%) และอียู (สัดส่วนส่งออก : 8.6%) เป็นต้น

แนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจหลังจบ COVID-19

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ทำการวิเคราะห์โดยพิจารณา และศึกษาจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การชะลอตัว/หดตัวของเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก รวมถึงผลกระทบจากการ Lockdown ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจที่แต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไปทั้งในเรื่องโครงสร้างธุรกิจ ประเภทธุรกิจ ความสามารถในการบริหารจัดการ และความแข็งแกร่งของธุรกิจด้านการเงิน ซึ่งสามารถแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

1.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว

ธุรกิจการขนส่งสินค้าและโดยสารทั่วไป (ทางบกและทางน้ำ), ธุรกิจสื่อสาร, ธุรกิจคลังสินค้า, ธุรกิจไปรษณีย์/การรับส่งของ, ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร, ธุรกิจสุขภาพ (การแพทย์และอนามัย), ธุรกิจขายปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น, ธุรกิจผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์/การแพทย์, ธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์/รถจักรยานยนต์, ธุรกิจประกันสุขภาพ และธุรกิจการศึกษาออนไลน์

2.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ปานกลาง

ธุรกิจการขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว (ทางบกและทางน้ำ), ธุรกิจโรงแรม, ตัวแทนธุรกิจเดินทาง/นำเที่ยว, ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจขายส่งขายปลีกที่เป็นรายย่อย, ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม, ธุรกิจผลิตกระเบื้อง/เครื่องปั้นดินเผา/ผลิตภัณฑ์แก้ว, ธุรกิจผลิตเครื่องจักร, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจกระดาษ, ธุรกิจเคมีภัณฑ์, ธุรกิจเหล็ก, ธุรกิจผลิตซีเมนต์/คอนกรีต, ธุรกิจประมงฯ, ธุรกิจก่อสร้าง, สถาบันการเงิน, ธุรกิจประกันภัย/ประกันอุบัติเหตุ และธุรกิจการศึกษา

3.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ช้า

ธุรกิจขนส่งทางอากาศ (สายการบิน), ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง, ธุรกิจรถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจต้องปรับตัว และทำแบบเดิมไม่ได้

หากไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง ธุรกิจต่าง ๆ ก็ต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัว และกลับมาดำเนินการโดยใช้เวลาที่แตกต่างกันออกไป แต่คาดการว่าจะมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงการที่ประเทศยังต้องพึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจต้องใช้เวลาฟื้นตัว

ดังนั้น หากถอดบทเรียนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะพบว่าผู้ประกอบการควรตระหนัก และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ไม่ควรพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมากจนเกินไป, มีเงินสำรองเพียงพออย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรักษาสภาพคล่อง, ไม่สร้างหนี้มากจนเกินไป และกระจายรายได้จากหลายกลุ่มลูกค้า

ทั้งนี้ ในระยะยาวธุรกิจควรต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกของธุรกิจ รวมถึง New Normal ใหม่ ๆ ของสังคมที่จะทำให้บางธุรกิจถูกพลิกโฉมไปตลอดกาล อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงานในระยะยาว รวมถึงการใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยในด้านการค้า การตลาด การชำระค่าสินค้าและบริการ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น