NIA ชวน SME ไทย ส่งนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัวการจัดประกวด “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563” จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 16 ซึ่งเป็นเวทีเชิดชูเกียรติคนไทยที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและก่อประโยชน์ต่อประเทศในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพของนวัตกรไทย เกิดการเผยแพร่ต้นแบบนวัตกรรมสู่สาธารณชนในวงกว้าง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นชาติแห่งนวัตกรรม

 

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติถือเป็นรางวัลนวัตกรรมอันทรงเกียรติสูงสุดของวงการนวัตกรรมไทย จัดมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่คนไทยที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความโดดเด่น และก่อประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างชัดเจน เมื่อเราพูดถึง “นวัตกรรม” จะต้องมีเทคโนโลยี ที่เป็นเครื่องมือทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา มีการคิดโมเดลรูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการที่เอาชนะใจให้เกิดการนำไปใช้งานจริง

ในปีนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน จำนวน 5 คณะ และคณะอนุกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติอีก 1 คณะ โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับ ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ และเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย สิ่งที่มีมูลค่ามากกว่าเงินรางวัลที่ผู้ชนะจะได้รับคือ การได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในแวดวงนวัตกรรมไทย และได้รับโอกาสในการต่อยอดศักยภาพในมิติอื่นๆ เช่น การขยายตลาดนวัตกรรม การสร้างแบรนด์นวัตกรรมให้แก่องค์กรและประเทศ

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติปี 2563 แบ่งรางวัลเป็น 5 ด้าน ดังนี้

1. รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ มอบให้กับผลงานนวัตกรรมที่สร้างให้เกิดคุณค่าเชิงพาณิชย์ และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศแบ่งประเภทตามขนาดขององค์กร ได้แก่ องค์กรขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลาง วิสาหกิจขนาดย่อม และวิสาหกิจรายย่อย

2. รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มอบให้กับผลงานนวัตกรรมที่สร้างให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แบ่งประเภทตามลักษณะขององค์กร มีหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน

3. รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ มอบให้กับผลงานนวัตกรรมที่นำการออกแบบมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์และบริการ แบ่งประเภทตามลักษณะผลงาน เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการออกแบบบริการ 

4. รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสื่อและการสื่อสาร มอบให้กับผลงานนวัตกรรม และบุคคลที่มีความสร้างสรรค์ในการสร้างสรรค์เนื้อหารวมไปถึงการสื่อสารรูปแบบใหม่ แบ่งประเภทตามลักษณะผลงาน เป็นผลงานนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร และผู้สื่อสารนวัตกรรม

5. รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น มอบให้กับองค์กรที่มีการบริหารจัดการนวัตกรรมในองค์กรอย่างโดดเด่น ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ ระดับกระบวนการ ไปจนถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร โดยแบ่งประเภทตามขนาดขององค์กร ได้แก่ องค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดกลาง และองค์กรขนาดเล็ก โดยมีการนำ Social Listening Tool มาใช้ในการคัดกลั่นกรององค์กรที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรม

รางวัลที่ผู้ชนะได้รับในปีนี้ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท จะได้รับพระบรมรูปประติมากรรม “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” พร้อม เงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลที่ 2 ในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ เงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลที่ 3 ในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ เงินรางวัล 25,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ชนะยังได้รับสิทธิพิเศษอื่นๆอีกจากทาง NIA ด้วย เช่น ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรมจากการเข้ารับการอบรมและศึกษาดูงานนวัตกรรมองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมในต่างประเทศ ได้รับโอกาสในการพัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมโดยการสนับสนุนด้านเงินทุนจากทางสำนักงาน และได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิดชูเกียรติผ่านสื่อมวลชน

 

ดร.รัฐ พิชญางกูร อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ปัจจุบัน SMEs ไทย มีความตื่นตัวด้านการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการผลิต นวัตกรรมด้านบริการ และการสร้างองค์กรนวัตกรรม แต่คนส่วนใหญ่จะมองเห็นเฉพาะการสร้างนวัตกรรมจากตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น เนื่องจากเห็นได้ง่ายกว่า ซึ่งในความเป็นจริง SMEs มีการสร้างนวัตกรรมทุกรูปแบบ และเราต้องการเห็นการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น จึงจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติขึ้นมา

ด้วยธุรกิจของ SME มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก การสร้างนวัตกรรมของ SMEs จึงสามารถช่วยสร้างสมดุลให้กับการขับเคลื่อนนวัตกรรมของชาติให้หลากหลายขึ้น มากกว่าจะกระจุกอยู่เพียงแค่บริษัทรายใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะการสร้างนวัตกรรมของบริษัทขนาดเล็กกับขนาดใหญ่จะมองภาพต่างกัน ดังนั้น ถ้าเกิดการสร้างนวัตกรรมมากขึ้นทั้งจากองค์กรขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ก็จะทำให้เกิด Ecosystem ด้านนวัตกรรมภายในประเทศอย่างสมบูรณ์แบบ และยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับการสร้างนวัตกรรมที่ดีของบริษัทขนาดเล็ก ควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อน พร้อมสามารถแก้ปัญหา และตอบโจทย์อุปสงค์ หรืออุปทานได้ เทคโนโลยีที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีสูงส่งล้ำยุค แต่ต้องนำมาใช้ประกอบกัน นวัตกรรม คือการนำเอาองค์ความรู้ มาใช้ในกระบวนการผลิต แล้วสร้างผลิตภัณฑ์ออกไปให้ผู้บริโภคได้ใช้ ซึ่งต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกไปแล้วส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจ เพราะการที่สังคมเลือกใช้จะสะท้อนถึงการเป็นนวัตกรรมที่ดีจริงๆ

โดยหลักเกณฑ์ การตัดสินจะมองจากการมีกระบวนการคิดดี และสามารถนำสิ่งที่ตัวเองมี มาผ่านกระบวนการทางด้านธุรกิจ การตลาด แล้วส่งผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ อย่างต่างประเทศที่มีความได้เปรียบด้านนวัตกรรม เพราะมีจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและนักธุรกิจ แต่ลักษณะการทำธุรกิจของไทยจะเป็นการซื้อมาขายไปเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์มาก ดังนั้น เกณฑ์การตัดสิน เราจึงมองว่าอาจไม่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมโดยอิงวิทยาศาสตร์ แต่ขอให้เกิดการสร้างรายได้ และช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็เพียงพอแล้ว

ส่วน SME ที่นำผลงานวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ มาต่อยอดสร้างนวัตกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเอาเทคโนโลยี และกระบวนการผลิตมาใช้ แต่ยังขาดการตลาด หรือขาดการใส่รูปแบบธุรกิจเข้าไป ดังนั้นการจะนำมาใช้เพื่อให้เกิดการประสบความสำเร็จ จนเป็นนวัตกรรมที่ถูกยอมรับ สามารถสร้างรายได้ และส่งผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ ต้องนำเอาปัจจัยต่างๆมาประกอบกัน พร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว

แต่สิ่งที่น่าห่วง คือการนำงานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆมาใช้ ส่วนใหญ่เกิดจากสถาบันการศึกษา จะเริ่มมีปริมาณน้อยลง เพราะการประเมินอาจารย์ ไม่ได้ถูกประเมินจากผลงานที่ได้นวัตกรรม แต่ถูกประเมินผ่าน การสอน ทำงานวิจัย แล้วตีพิมพ์ออกไป ซึ่งงานวิจัยบางอย่างไม่ได้ทำมาเพื่อสร้างนวัตกรรม และงานวิจัยส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปใช้มากขึ้น ในขณะที่ความก้าวหน้าของอาจารย์ที่พัฒนานวัตกรรมมีน้อย ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมที่เกิดจากสถาบันการศึกษาจึงเริ่มลดลง แต่เมื่อมีการรวมสถาบันการศึกษา สถาบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน ก็คาดหวังว่าประเทศไทยจะเกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น

นั่นเพราะการเป็น SMEs ไม่ได้มีทุนมาก ที่จะมาทุ่มกับการลงทุนนวัตกรรม ดังนั้นการร่วมกับสถาบันการศึกษา แล้วนำงานวิจัยมาต่อยอด ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถสร้างนวัตกรรมของตนเองได้ แต่ต้องเก็บเอาความรู้พื้นฐานมาสังเคราะห์ เช่น ต้องเข้าใจวิถีชีวิต เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากการสร้างนวัตกรรมที่ดีต้องมองถึงการแก้ไขปัญหา หรือตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ได้ ถ้าคุณไม่เข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของคน ก็ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ นอกจากนี้ ต้องง่ายต่อการตอบสนองความต้องการทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน เพราะอะไรก็ตามที่ไม่สามารถหาได้ในห้างสรรพสินค้า หรือหาได้จากอินเทอร์เน็ต เราไม่ถือว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นนวัตกรรม เรามองว่าเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ Prototype เพราะนวัตกรรมที่ดีต้องซื้อหา หรือใช้งานได้ทันที

เราอยากให้ผู้ประกอบการร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นการประกวดเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เข้าประกวดจะได้เรียนรู้การพัฒนานวัตกรรมจากบริษัทต่างๆ เพื่อก้าวต่อไปด้วยกันอย่างมีศักยภาพ โดยมีรางวัลและสิทธิประโยชน์เป็นเพียงตัวกระตุ้นเท่านั้น แต่เป้าหมายหลักคือการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ ในขณะที่มีสินค้า และเทคโนโลยีจากจีน หรือประเทศต่างๆ ไหลทะลักเข้ามามากมายในประเทศไทย

ผู้สนใจส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2563 สามารถสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

ดูรายละเอียดและสมัครผ่านทางออนไลน์ที่ www.award.nia.or.th
หรือติดต่อคุณพัชรีนาถ 080-070-2999