ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. ฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน


ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ 48.2 เพิ่มขึ้นจาก 47.2 ในเดือน เม.ย. 63 ถือเป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ 48.2 เพิ่มขึ้นจาก 47.2 ในเดือน เม.ย. 63 ถือเป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ค. อยู่ที่ 40.2 เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 63 ที่อยู่ในระดับ 39.2

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 46.6 จาก 46.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 57.7 จาก 56.4

ปัจจัยบวก

-รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2
-คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
-การส่งออกเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 2.12%

ปัจจัยลบ

-การแพร่ระบาดของโควิด-19
-สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1/63 ติดลบ 1.8% รวมทั้งปรับลดประมาณการปี 63 ลง
-รัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป
-ความกังวลปัญหาสงครามการค้า
-ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
-เงินบาทแข็งค่า
-ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค.63 จะปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 8 เดือน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการจากมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้มากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่ำและอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปีหลายรายการ

ดังนั้น จึงคาดว่าผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่ายไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้ไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะคลายตัวลง และมีการเปิดร้านค้า/กิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนนั้น การเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่ใช่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแค่ 1 เดือนยังวัดอะไรไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้น คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

อ้างอิง: ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย