เมื่อต้องปรับลดเงินเดือน คนเป็นหัวหน้าต้องสื่อสารกับลูกน้องอย่างไร


ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ผลกระทบที่ได้รับก็ยังไม่เปลี่ยนไป ผู้คนยังคงไม่กลับมาใช้เงินอย่างปกติ รวมถึงร้านค้า และบริการหลาย ๆ แห่งก็ยังทำยอดขายตกต่ำลงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้เอง การปรับลดเงินเดือนพนักงานจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จำเป็นต้องทำของผู้ประกอบการ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครอยากเจอเหตุการณ์แบบนี้ และคุณเองก็ไม่ได้อยากทำ แต่เพราะสถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้ทางออกสุดท้ายนี้ต้องเกิดขึ้น

ซึ่งการปรับลดสวัสดิการ หรือเงินเดือนต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังจะใช้วิธีนี้ในการรักษาธุรกิจตัวเอง จึงต้องมีเทคนิคการบอกให้ลูกน้องยอมรับ และไม่ขวานผ่าซากจนเกินไป เพราะถ้าใช้คำพูดผิด หรือสื่อสารไม่ถูกต้อง อาจทำให้เขาลาออกจากคุณได้เลย

1. บอกเล่าถึงสถานการณ์ที่แท้จริง

อย่างแรกที่ต้องทำคือเรื่องของการบอกเล่าความเป็นจริงให้พนักงานทุกคนรู้ว่า สถานการณ์ตอนนี้ที่คุณต้องเจอมีอะไรบ้าง ความเปลี่ยนแปลงของเม็ดเงินต่างๆ ลูกค้าทั้งหลาย และภาระที่คุณต้องแบกรับคืออะไร เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจว่าทุกอย่างมันมีเหตุผลของตัวเอง ไม่ใช่แค่คุณอยากปรับลดอะไรก็ลด เพราะสุดท้ายถ้าเขาเข้าใจถึงที่มาที่ไปของมัน เขาก็จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ง่ายขึ้น

2. บอกถึงระยะเวลาที่ชัดเจน

การปรับลดเงินเดือน หรือสวัสดิการนั้น ถ้าพูดแบบเลื่อนลอย ไม่มีหลักประกันใด ๆ ก็จะทำให้พนักงานเกิดความเครียด และรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สำคัญที่สุดคุณต้องสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานว่า สถานการณ์จะกลับไปเป็นปกติในอีกกี่เดือนข้างหน้า เช่น คุณจะปรับเงินเดือนตามปกติในอีก 3 เดือน ช่วงนี้ขอให้อดทนกันไปก่อน การมีระยะเวลาที่ชัดเจนจะช่วยให้ทุกคนไม่รู้สึกท้อแท้กับการรอคอยที่สิ้นหวัง และสามารถคำนวณได้ว่าพวกเขาพร้อมสำหรับการรอคอยครั้งนี้หรือไม่

3. แสดงให้เห็นว่าคุณพยายามทุกวิธีแล้ว

หากคุณไม่เคยได้ลองปรับเปลี่ยนอะไรใด ๆ มาถึงก็ปรับลดเงินเดือนพนักงานเลย ตรงนี้ไม่มีใครพอใจในการกระทำแน่นอน ถ้าอยากให้พนักงานเข้าใจว่าเหตุผลที่คุณต้องลดค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนมันมีที่มา และเป็นทางเลือกที่คุณเองก็ไม่อยากทำเช่นกัน คุณต้องทดลองวิธีอื่นในการเอาตัวรอดทางธุรกิจมาก่อนเพื่อให้พนักงานรู้ว่านี่คือทางออกสุดท้ายแล้วจริงๆ เช่น การปรับลดค่าการตลาด การขอผ่อนผันค่าเช่าออฟฟิศ การทดลองให้พนักงานเวิร์คฟอร์มโฮม ลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อสุดแล้วจริง ๆ นี่จึงเป็นวิธีสุดท้ายที่คุณต้องทำ และพวกเขาจะเข้าใจมันมากขึ้นเอง

4. หาทางออกให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

นอกจากการบอกเล่าให้พนักงานเข้าใจว่าพวกเขาต้องโดนปรับเงินเดือนเพราะเหตุใดแล้ว การที่คุณยังสร้างช่องทางหารายได้ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องแบกรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว ก็เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจพนักงานเอาไว้เช่นกัน เมื่อคุณพยายามบอกพวกเขาอยู่เสมอว่า คุณกำลังทำอะไรอยู่เพื่อให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น พนักงานเองก็จะอุ่นใจ และรู้สึกว่าคุณไม่ได้กำลังเอาเปรียบพวกเขา แต่คุณเองก็พยายามเพื่อสร้างให้สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิมเช่นกัน ซึ่งตรงนี้จะทำให้ทุกคนไม่อยากลาออกจากคุณ