TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดหนักสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้สตาร์ทอัพ


TED Fund จับมือ NIA และออมสิน จัดสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสู้ภัยโควิดให้ Startup ซึ่งอยู่ระหว่างรับทุน และไม่ได้รับทุน ปล่อยกู้สูงสุดรายละ 10-20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเพียง 2%

นายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก TED Fund ดำเนินการสนับสนุนทุนแก่กลุ่มธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ไปแล้วกว่า 200 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 325 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและตัวชี้วัด มากกว่า 40 โครงการ แต่ที่เหลือกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ TED Fund และ NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จึงได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน ประกาศนโยบายสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการรับทุนของ NIA และ TED Fund บรรเทาสภาวะทางการเงินเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2 โครงการได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน ในวงเงินกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท และ โครงการสินเชื่อเพื่อนวัตกรรมสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดย TED Fund และ NIA จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายอนุรักษ์ เสงี่ยมจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs Startup กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ กล่าวว่า ธนาคารได้รับมอบหมายให้สนับสนุน ธุรกิจ Startup และ SMEs Startup ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย ธนาคารจึงได้จัดตั้ง Venture Capital ขึ้นมาก่อนหน้านี้ จำนวน 4 กอง รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท รวมทั้ง Angle มูลค่า 500 ล้านบาท อีก 1 กอง เพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มนี้ ภายใต้โครงการ GSB Startup Ecosystem และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ส่วนกลุ่ม Startup ที่อยู่ในโครงการของ TED Fund และ NIA และ/หรือ ผู้ประกอบการที่เคยผ่านการคัดกรอง หรือได้รับการรับรองความเป็นนวัตกรรมจาก TED Fund และ NIA นั้น ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อให้ “ทุกราย” ภายใต้วงเงินที่กำหนดไว้คือ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย สำหรับ Stratup และไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับ SMEs Startup อัตราดอกเบี้ย 2% ในช่วง 2 ปีแรก และตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยจะเป็น MOR ลอยตัว (MOR+2)

“Startup และ SMEs Startup ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทแล้ว ดำเนินธุรกิจแล้ว และมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงแล้วไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะได้รับทุนจาก TED Fund หรือ NIA หรือไม่ก็ตาม ทุกคนสามารถเดินเข้ามาคุยกับเราได้ เพราะเราพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกราย ส่วนที่มีผู้กังวลในเรื่องหนี้เสียนั้น เราได้มีการปรับเกณฑ์ของธนาคารให้อยู่ในลักษณะที่พอรับความเสี่ยงได้ ไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้ง TED Fund และ NIA ช่วยสกรีนผู้ประกอบการให้เรา ความเสี่ยงจึงน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และยอมรับได้ ประเด็นหลักในขณะนี้คือ เราต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ก่อนที่จะคิดอย่างอื่น” นายอนุรักษ์ กล่าวในที่สุด

อ้างอิง: กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม