เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ ย่อมต้องมีการจ้างงาน ซึ่งก็จะต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์งานเพื่อสอบถามรายละเอียด ความสามารถ และทัศนคติในการร่วมงานกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามผู้สมัครงานแสดง 5 สิ่งนี้ขึ้นมาล่ะก็ ขอแนะนำด้วยความหวังดีว่าอย่ารับเขาเข้าทำงานเด็ดขาด เพราะมีแต่จะสร้างเรื่องปวดหัวตามมาไม่รู้จบ
พูดถึงบริษัทเก่าในแง่ลบ
การลาออกจากที่ทำงานเก่านั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน บางคนจบสวย บางคนจบไม่สวย ซึ่งส่วนมากจะมาจากการผิดใจกันในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะกับหัวหน้า กับเงินเดือน หรือกับเพื่อนร่วมงาน แต่การนำเรื่องแย่ ๆ ของภายในองค์กรเก่าไปเล่าและใส่ไฟให้ดูเลวร้าย นั่นหมายความว่าผู้สมัครคนนี้มีนิสัยชอบว่าร้ายคนอื่นให้บุคคลที่สามฟัง รวมทั้งยังพูดแต่ความผิดของคนอื่นฝ่ายเดียวนับเป็นคนประเภทที่อันตรายและไม่ควรรับเข้ามาในองค์กรเด็ดขาด
ซึ่งถ้ารับเข้ามาทำงานก็อาจจะกลายเป็นแกนนำในการจับกลุ่มนินทาได้ เพราะขาดคุณสมบัติในการควบคุมสติตัวเอง และมิหนำซ้ำถ้าลาออกจากคุณไปก็อาจจะนำเรื่องราวภายในองค์กรไปเล่าแบบเสีย ๆ หาย ๆ ได้อีกเช่นกัน
เริ่มต้นโกหกตั้งแต่วันแรก
การสัมภาษณ์งานนั้นเป็นเรื่องของจิตวิทยาซึ่งใบสมัครหรือเรซูเม่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องแท้จริงทั้งหมด ส่วนมากมักจะมีเรื่องที่ผู้สมัครไม่ได้บอกกับคุณ หรือจงใจโกหก ปิดบัง ซึ่งถ้าคุณสามารถสอบถามไปจนพบเรื่องราวความน่าสงสัย หรือรู้สึกว่าผู้สมัครกำลังโกหกอะไรอยู่ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ให้ตัดเกรดเขาออกมาในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ได้เลย
เนื่องจากการโกหกกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนก็ตาม ขนาดคุณยังไม่เคยทำงานร่วมกันยังมีพฤติกรรมโกหก ปิดบังแบบนี้ จะทำให้คนในองค์กรระแวงและหมดความไว้วางใจ และแน่นอนว่าจะทำให้การทำงานร่วมกับคนอื่นยากขึ้นกว่าเดิมเยอะ
จริงใจ แต่ไม่เวิร์ค
เหตุผลสุดอันตราย เช่นการที่ผู้สมัครพูดออกมาตรง ๆ ว่าที่บ้านไม่สนับสนุนให้ทำงานบริษัทคุณนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นหมายความว่าเขามีคุณสมบัติแห่งความซื่อสัตย์ แต่ในทางกลับกัน คุณต้องอย่าลืมคิดว่า การที่ทางบ้านไม่สนับสนุน นั่นหมายความว่าเขาต้องทำงานด้วยตัวเองคนเดียวลำพัง ไม่มีกำลังใจในการทำงาน และอาจโดนกดดันในทุก ๆ วันจากคนรอบข้าง ซึ่งมีผลต่อการทำงานอย่างมาก ทั้งในเรื่องความเครียดสะสม ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง และเสี่ยงต่อการอยู่ไม่ยาว ทำให้คุณต้องรับสมัครพนักงานคนใหม่อย่างรวดเร็ว เสียเวลาเรียนรู้งานอย่างมาก
ปิดบังเหตุผลที่ลาออกจากที่เก่า
การลาออกจากที่เก่าไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจของคุณทั้งสิ้น เพราะถ้าลาออกด้วยเรื่องเงินเดือน คุณจะได้รู้ว่าเงินเดือนเท่าไหร่ถึงเหมาะสม ถ้าลาออกด้วยสาเหตุเพื่อนร่วมงาน คุณจะได้ระวังได้ว่าบุคคลนี้อาจเข้ากับคนอื่นไม่ไหว หรือถ้าลาออกด้วยสาเหตุทะเลาะกับหัวหน้า คุณก็อาจจะมองว่าเขาเป็นคนคุมยาก
แต่เมื่อเขาไม่บอกสาเหตุที่ลาออก พร้อมไม่ให้ช่องทางติดต่อบริษัทเก่า ก็หมายความว่าเขามีบางอย่างปิดบัง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเหตุผลอะไรก็ไม่ใช่เรื่องดีกับตัวคุณเองแน่นอน
มีความขี้เกียจให้เห็นตั้งแต่ครั้งแรก
การสัมภาษณ์งานอาจเป็นเรื่องยากที่เราจะรับรู้ได้ว่าใครเป็นคนขี้เกียจ ใครเป็นคนขยัน แต่คุณสามารถทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยการลองให้เขาตอบคำถามที่ยาวๆ ดูเพื่อจะสังเกตว่าเขาได้ขยันพูดเพื่อให้คำตอบมันออกมาครบถ้วนสมบูรณ์รึเปล่า
อีกทางหนึ่งที่ง่ายดายที่สุดคือ ลองถามเรื่องเกี่ยวกับบริษัทที่เขาควรรู้ อาจเป็นเรื่องลึกลงไปสักนิดที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่ยากเกินไป เพื่อเช็กดูว่าเขาได้ทำการบ้านมาก่อนการสัมภาษณ์ครั้งนี้หรือเปล่า เพราะคนขี้เกียจส่วนมากจะไม่เสียเวลาของตัวเองไปทำอะไรที่ดูน่าเบื่ออย่างการหาข้อมูลบริษัทแน่นอน ถ้าเขาตอบไม่ได้เลยสักข้อ หรือไม่รู้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับคุณ นั่นหมายความว่าเขาเป็นคนที่ขี้เกียจคนหนึ่งเลย