องค์กรอนามัยโลก เผยวิธี “กินปลาแซลมอน” ให้ปลอดภัยจากโควิด-19


จากกระแสข่าวการระบาดรอบใหม่ในจีนที่ต้นตอมาจากเขียงแล่ปลาแซลมอน ทำให้สาวกปลาดิบ ซูชิ ซาซิมิ ต่างผวา ไม่แน่ใจการรับประทานเมนูอาหารยอดฮิตนี้

แม้ที่ผ่านจะมีผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าการแพร่เชื้อของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้จากคนสู่คนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าให้มองข้ามความจำเป็นในการปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดในการจัดเตรียมอาหาร

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำการรับมือด้านความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อการมีโภชนาการที่ดี และปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ดังนี้

• ใช้เขียงและมีดแยกต่างหากสำหรับเนื้อดิบและอาหารที่ปรุงสุกแล้ว

• ล้างมือทุกครั้งระหว่างการเตรียมเนื้อดิบและอาหารที่ปรุงสุกแล้ว

• ไม่ควรรับประทานสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่ตายจากโรค

• ถึงแม้ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสวัตถุดิบเนื้อต่างๆ ยังสามารถรับประทานได้หากผ่านการปรุงสุกอย่างทั่วถึง และมีการจัดเตรียมอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ประกาศขององค์กรอนามัยโลกไม่ได้มีการกล่าวถึงอาหารทะเล และไม่ถือว่าเป็นอาหารที่เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และปลาแซลมอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มีน้อยมากที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ที่ขณะนั้นเป็นพื้นที่มีการระบาด โดยปลาแซลมอนที่มีจำหน่ายในเมืองไทย 87% ถูกนำเข้ามาจากนอร์เวย์ ทางสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้ดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การจัดส่งอาหารที่ปลอดภัย ยั่งยืน และมีคุณค่าทางโภชนาการท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ แซลมอนจากนอร์เวย์ได้รับการรับรองว่า เป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ สามารถรับประทานแบบดิบ เช่น ซูชิ และซาชิมิ ได้ แม้ไม่ผ่านการแช่แข็ง การเพาะเลี้ยงแซลมอนจากนอร์เวย์เป็นไปตามกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารตามกฎหมายของสหภาพยุโรป นอร์เวย์มีการติดตามสารพิษตกค้างจากยาและสิ่งแวดล้อมในปลาที่เพาะเลี้ยงทุกๆ ปี และเลี้ยงดูแซลมอนด้วยอาหารแห้งที่ผ่านกรรมวิธีอบร้อนทำให้ปราศจากพยาธิ ปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ไม่เป็นพาหะ ผู้บริโภคจึงไม่สามารถรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จากการรับประทานแซลมอน