รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
ไขข้อเท็จจริง “เขียงแซลมอน” ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดผ่าน “อาหารทะเลนำเข้า” จริงหรือไม่ นักวิจัยชี้ชัด “แซลมอน” คือสัตว์เลือดเย็นน้ำลึด ป่วยโควิด-19 ไม่ได้
จากกรณีที่มีตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 บนเขียงปลาแซลมอนในประเทศจีน จนทำให้ต้องประกาศปิดตลาดสดหลายแห่งทั่วกรุงปักกิ่ง พร้อมเดินหน้าตรวจหาเชื้อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเร่งด่วน โดยหวั่นว่าจะมีการระบาดระลอกสอง
ล่าสุดสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จากผลการทดสอบเบื้องต้นระบุว่ามีการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งก่อโรคโควิด-19 บนเขียงสำหรับหั่นเนื้อปลาแซลมอนนำเข้า ในตลาดขายส่งอาหารขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง (ซินฟาตี้) ซึ่งเป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ที่เพิ่งได้รับการยืนยันในปักกิ่ง
และแม้จะมีการตรวจพบไวรัสในตัวอย่างที่เก็บจากจุดอื่นๆ ของตลาดขายส่งอาหารซินฟาตี้ด้วย แต่สื่อท้องถิ่นและชาวเน็ตต่างกังวลกันว่าไวรัสอาจแพร่กระจายผ่านอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนหรือบรรจุภัณฑ์ของปลาแซลมอน ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน
เหวินอวี้เหมย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นและนักวิชาการประจำสถาบันวิศวกรรมแห่งชาติจีน (CAE) ออกมาอธิบายประเด็นข้างต้น โดยให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้ เทคโนโลยี โพสต์ (Shanghai Technology Post) ว่าสัตว์เลือดเย็นที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกอย่างปลาแซลมอน ไม่สามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้
ด้านไมก์ ไรอัน (Mike Ryan) หัวหน้าโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนเช่นกัน “เราทราบกันดีว่าโรคนี้แพร่กระจายจากคนสู่คนเป็นหลัก โดยผ่านทางเดินหายใจและการปนเปื้อนจากมนุษย์ที่อยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมนั้นๆ อีกทั้งเรายังพบว่าโรคนี้สามารถทลายกำแพงทางชนิดพันธุ์ของมนุษย์ได้อีกด้วย” ไรอันกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (15 มิ.ย.)
“ชัดเจนว่าที่ผ่านมามีการวิจัยเกิดขึ้นมากมาย ที่เกี่ยวกับฤทธิ์เดชของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ และไวรัสตัวอื่นๆ ที่จะอยู่รอดบนพื้นผิวที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์”
“ในกรณีเฉพาะนี้ คิดว่านี่ก็คือสมมติฐานข้อหนึ่ง และหากเหตุการณ์นี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ก็จำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม” ไรอันกล่าว
ไรอันระบุว่ารายงานที่เกี่ยวข้องหลายฉบับระบุว่าชนิดของไวรัสที่พบในการระบาดครั้งล่าสุดในปักกิ่งนั้น เป็น “สายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด” ในยุโรป
“การค้นพบว่าไวรัสนี้อาจเป็นหนึ่งสายพันธุ์ที่พบในการแพร่ระบาดในภูมิภาคยุโรปเป็นเรื่องที่สำคัญ และนั่นก็อาจสะท้อนได้ถึงข้อสันนิษฐานการติดต่อจากคนสู่คน มากกว่าที่จะเป็นสมมติฐานข้ออื่นๆ แต่ก็ยังต้องดูกันต่อไป”
ด้านเฉินเอี้ยนข่าย รองหัวหน้าสำนักกำกับดูแลตลาดเทศบาลปักกิ่ง กล่าวว่าปักกิ่งจะยกระดับการตรวจสอบบรรดาตลาดอาหารที่จำหน่ายของสด รวมถึงเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะและสัตว์ปีกแช่แข็ง
นอกจากนั้นขณะนี้ เมืองอื่นๆ ทั่วจีน ยังได้ยกระดับการตรวจเนื้อสัตว์และอาหารทะเลสดด้วยเช่นกัน
ความเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดของการแพร่ระบาดของโรคในปักกิ่งนั้น น่าจะช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาได้ ทว่าการกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งของโรคนี้ในปักกิ่ง ยังคงมีหลายอย่าที่เรายังไม่ทราบแน่ชัด และยังต้องรอการยืนยันจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่าจีนสนับสนุน “การวิจัยระดับโลกที่นำโดยองค์การอนามัยโลกและจัดทำโดยบรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ บนหลักการของความเป็นมืออาชีพ ความสุจริต และความสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ และเพื่อรับมือต่อโรคติดเชื้อที่สำคัญต่างๆ ในอนาคต ตลอดจนพัฒนาระบบสาธารณสุขและความสามารถในการกำกับดูแลของโลก”
“จีนเปิดกว้างต่อชุมชนวิทยาศาสตร์นานาชาติมาโดยตลอด ในการดำเนินความร่วมมือในการวิจัยเพื่อติดตามต้นตอของไวรัส” ฮว่า กล่าว