5 วิธีสั่งงานลูกน้อง สั่งยังไงให้เข้าใจและได้งาน


การทำงานไม่ว่าจะธุรกิจอะไรก็ตามคุณต้องมีลูกน้องหลายสิบชีวิตร่วมทางไปด้วย และปัญหาใหญ่ที่จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือความเข้าใจผิด ทั้งในกระบวนการทำงาน และความบาดหมางใจก็คือ เรื่องของการสื่อสารนี่เอง

ซึ่งการสั่งงานลูกน้องนั้นต้องสั่งอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่เพียงแต่พูดในสิ่งที่ต้องการออกไปโดยไม่แคร์ถึงหัวใจคนฟัง หากคุณลองปรับมุมมอง และเปลี่ยนน้ำเสียง ท่าทางที่ใช้ในการสั่งงานดูสักนิด เรียนรู้วิธีสั่งงานอย่างมืออาชีพ รับรองว่างานคุณจะเดินไว และลูกน้องจะตั้งใจทำงานขึ้นกว่าเดิม

1. เลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน

การทำงานนั้นถ้าอยากให้งานเสร็จไว และไม่ลำบากใจคนทำ คุณต้องมอบหมายงานให้กับคนที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ โดยเฉพาะ ไม่ใช่ว่ามองแค่ผิวเผินเพียงแค่พนักงานบางคนมีเวลาว่างมากกว่า ก็เลยมอบงานให้คนนั้นทำ เพราะสุดท้ายแล้วในการทำงาน เราต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ งานถึงจะออกมาได้ดี ดังนั้นพยายามมองหาคนที่เก่งกาจและเหมาะสมกับงานตรงหน้าเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยดูปัจจัยย่อยอื่น ๆ เป็นส่วนเสริม

2. ระบุหน้าที่ที่ต้องทำให้ชัดเจน

เวลาคุณสั่งงาน เคยสังเกตตัวเองมั้ยว่าสั่งงานในรูปแบบไหน บางคนชอบเดินมาบอกผ่าน ๆ กับลูกน้องว่า ทำสิ่งนั้นให้ด้วย สิ่งนี้ให้ด้วย ซึ่งเพราะความที่มันง่ายและสะดวกสบายแบบนี้เองจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันบ่อย ๆ ว่างานชิ้นนี้ไม่ได้รีบ รวมถึงพนักงานอาจจะไม่ทันได้ยิน หรือฟังไม่ถนัด และเกิดความคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นทางที่ดีต้องมอบหมายงานแบบมีลายลักษณ์อักษรชัดเจน แจกจ่ายงานผ่านทางไลน์ หรืออีเมลให้พนักงานรับรู้ได้อย่าง 100% เพื่อที่คุณจะได้สามารถระบุรายละเอียดได้ชัดเจนมากกว่าการพูดออกมาลอย ๆ อีกด้วย จะช่วยให้การทำงานของลูกน้องเสร็จไวขึ้น

3. กำหนดเส้นตายให้เข้าใจตรงกัน

เส้นตายหรือวันส่งงานนี่แหละตัวปัญหาที่ทำให้หัวหน้าและลูกน้องผิดใจกันมามากมาย เพราะความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรืออาจจะมาจากเล่ห์เหลี่ยมของตัวลูกน้องเองที่บอกว่าหัวหน้าไม่สั่งให้ชัดเจน ต่าง ๆ นานาเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ถ้าคุณกำหนดเส้นตายให้เข้าใจได้ตรงกัน อีกทั้งคนทำงานก็จะสบายใจยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาสามารถจัดระเบียบทุกอย่างด้วยตัวเองได้ วางแผนล่วงหน้าในการจัดการ และบริหารเวลาให้เหมาะสมลงตัวกับตัวเองได้ อีกทั้งการกำหนดเดทไลน์ที่ดีต้องให้ลูกน้องเห็นผลกระทบจากการทำงานด้วย ถ้าเขาส่งช้าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้เกิดความใส่ใจในการทำงานมากขึ้น

4. สอบถามความคืบหน้าของงานเป็นประจำ

การที่คุณให้ความไว้ใจและปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปด้วยตัวเองคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ก็อาจทำให้ลูกน้องมีความอิสระ แต่ในทางกลับกัน คุณอาจจะต้องเสี่ยงต่อความรับผิดชอบของลูกน้องว่าเขาคนนั้นจะทำได้ตามกำหนดที่ต้องการรึเปล่า ดังนั้นทางออกสายกลางที่คุณต้องทำก็คือ หมั่นติดตามสอบถามความคืบหน้าตลอดเวลา อาจจะไม่ต้องบ่อย แต่แค่นัดคุยกับพวกเขาบ้าง หรือกำหนดไว้ว่าวันไหนเขาต้องทำเสร็จไปกี่ส่วน การวางเดทไลน์ระยะสั้นแบบนี้จะทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงาน ให้เขาไม่ปล่อยวางจนลืม หรือมาเร่งทำเอาในวันท้าย ๆ แต่สามารถค่อย ๆ ทำงานไปเรื่อย ๆ และแก้ไขพร้อมพัฒนาสิ่งผิดพลาดให้ดีขึ้นทุกครั้งที่มีการส่งมอบ

5. อยู่เป็นกองหนุนทุกครั้งที่เขาต้องการคุณ

สุดท้ายแล้วต่อให้คุณจะสั่งงานให้ลูกน้องที่เก่งกาจ และเชี่ยวชาญในด้านนั้นแล้ว แต่การทำงานก็อาจจะเกิดปัญหา หรือมีสิ่งที่จะต้องให้คุณมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ดังนั้นพยายามทำตัวให้ติดต่อได้เสมอ มอบช่องทางติดต่อของคุณให้ลูกน้องติดต่อได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟซบุ๊กแชท หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ การที่ลูกน้องรู้ว่าคุณพร้อมจะซัพพอร์ตเขาจะช่วยให้เขามีกำลังใจทำงานและสร้างสรรค์ผลงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม