รอช้าไม่ได้! เมื่อธนาคารขยายบริการสู่ Food Delivery ตอบโจทย์ร้านค้า-ผู้บริโภคยุคใหม่


แพลตฟอร์มการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงของแอปพลิเคชันที่เรารู้จักกันดีอีกต่อไป แต่กลายเป็นภาคส่วนของธนาคารที่ขอร่วมวงนำเสนอแพลตฟอร์มการให้บริการทางด้านการสั่งอาหารอีกด้วย

หากมองดูตอนก็จะพบว่าเริ่มมีหลายธนาคารเริ่มมาจับตลาด Food Delivery ตั้งแต่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เปิดตัวแพลตฟอร์มชื่อว่า “Robinhood” ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจออุปสรรคเมื่อนำร้านค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ และทางแพลตฟอร์มจะไม่มีการเก็บค่า จีพี ไม่มีชาร์จเพิ่มแต่อย่างใด

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารหวังว่า “Robinhood” จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป

 

 

“เราตั้งใจให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีสำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ”

สำหรับการเปิดให้บริการของแพลตฟอร์ม “Robinhood” คาดการณ์มีขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ด้าน ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว “Eatable” แพลตฟอร์มการสั่งอาหารรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล และตามวิถีชีวิตแบบ New Normal ที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสั่งอาหาร ชำระเงิน โดยปราศจากการสัมผัส ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารก็สามารถใช้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการสั่งอาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยบางส่วนมีการใช้บริการสั่งในรูปแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น ดังนั้นร้านอาหารยุคจำเป็นต้องปรับตัวในการให้บริการ อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยแพลตฟอร์ม “Eatable” ของ KBTG เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้กับร้านอาหาร และลูกค้า รองรับการสั่งอาหารออนไลน์รูปแบบใหม่แบบครบวงจร

 

 

สำหรับแพลตฟอร์ม “Eatable” คาดการณ์ว่าพร้อมเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้

ในอนาคตต่อจากนี้เราอาจจะเห็นธนาคารอีกหลายแบรนด์ที่หันมาขยายบริการในส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าใครขยับก่อนก็จะได้เปรียบ เนื่องจากพฤติกรรมการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ในช่วงนี้กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค อีกทั้งการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Food Delivery ของธนาคารย่อมมีโปรโมชัน ข้อเสนอที่ดึงดูดใจทั้งในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริโภค