สำหรับเรื่องการเงินที่ต้องรู้ ก่อนเริ่มทำธุรกิจ มีหลายปัจจัยให้ศึกษา เริ่มจากโครงสร้างต้นทุนเป็นบทสรุปของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ต้นทุน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือบริการของกิจการนั้นๆ โดยต้นทุนในธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost: ค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ มีลักษณะคงที่และไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของผลผลิต กล่าวคือ จะผลิตสินค้ามากหรือน้อย หรือไม่ผลิตเลย เราก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายประเภทนี้เท่าเดิมในทุกๆเดือนหรือทุกๆปี เช่น ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อหรือเช่าที่ดินหรือสร้างอาคารสำนักงาน
ต้นทุนผันแปร หรือ Variable Cost: ค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ มีลักษณะผันแปรหรือเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณของผลผลิต กล่าวคือ ถ้าเราผลิตมาก ก็เสียค่าใช้จ่ายมาก ถ้าผลิตน้อย ก็เสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ต้นทุนสองประเภทนี้ ถือว่าเป็นรายจ่ายที่เห็นชัดเจนว่ามีการจ่ายจริง แต่แท้จริงแล้วยังมีรายจ่ายที่มองไม่เห็นชัดเจนว่ามีการจ่ายจริง คือค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายออกไปในรูปของตัวเงิน แต่ผู้ประกอบการจะต้องประเมินขึ้นมาและถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต ได้แก่ ราคาหรือผลตอบแทนของปัจจัยการผลิตในส่วนที่ผู้ผลิตเป็นเจ้าของเองและได้นำปัจจัยนั้น มาใช้ร่วมในการผลิต ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่ง รายจ่ายประเภทนี้ เปรียบได้กับ ต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือ Opportunity Cost นั่นเอง ตัวอย่างเช่น เราเปิดกิจการร้านกาแฟ โดยใช้ตึกแถวของตัวเอง 2 คูหามาเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้คิดค่าเช่าตึกแถวของตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าเราปล่อยเช่าตึกแถวสองห้องนี้ ก็จะได้รับค่าเช่าสูงพอสมควร ในกรณีนี้เท่ากับว่า เราเสียต้นทุนค่าโอกาสทางธุรกิจ
รู้ความหมายของต้นทุนไปแล้ว เราก็ต้องรู้จักประเภทของเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจกันด้วย ว่ามีอะไรบ้าง
เงินทุนในการจัดตั้งธุรกิจ เช่น เงินมัดจำการเช่า เงินที่ใช้ในการตกแต่งหรือซ่อมแซมร้านค้าหรือสำนักงาน เงินที่ใช้ในการซื้ออุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆในกิจการ รวมไปถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายล่วงหน้า เช่น ค่าใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ ค่าธรรมเนียมด้านวิชาชีพ หรือ ค่าประกันภัยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องคำนวณค่าใช้จ่ายและวางแผนการบริหารเงินทุนให้เหมาะสมกับธุรกิจของตน เนื่องจากค่าใช้จ่ายจำนวนนี้จะเกิดขึ้นก่อนธุรกิจจะมีรายได้จากการดำเนินงาน
เงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ หมายถึงเงินที่ใช้ในการจ้างแรงงาน ค่าโฆษณาและการส่งเสริมการขาย การติดต่อสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต WIFI หรือ ค่าเช่าพื้นที่เว็บไซด์ ซึ่งค่าใช้จ่ายประเภทนี้จะมีลักษณะเฉพาะและอาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราคาดไม่ถึง
เงินทุนในการดำเนินงาน หรือเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการ เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของกิจการให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และเก็บสะสมบางส่วนเพื่อการขยายธุรกิจ หรือพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ในกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนเงินสด หรือเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ก็ต้องอาศัยแหล่งทุนภายนอก เช่นเงินกู้เพื่อการลงทุนจากธนาคาร หรือหน่วยงานต่างๆที่ส่งเสริมการลงทุนหรือช่วยผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายในการทำธุรกิจ แน่นอนคือการสร้างผลกำไร ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนทราบดีว่า ผลกำไรเกิดจากสร้างรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายหรือต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการนั่นเอง คำถามสำหรับเรื่องนี้คือ รายได้สามารถเข้าสู่ธุรกิจของเราได้ทางใดบ้าง การเข้ามาของรายได้สู่ธุรกิจมีหลากหลายวิธี เช่น การขายสินค้า, ค่าบริการ, ค่าสมาชิก, ค่ายืมหรือค่าเช่า, ค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ์, ค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้าซื้อขาย, ค่าโฆษณา
ในเรื่องนี้นั้น เราต้องถามตัวเองว่ารายได้สามารถเข้าสู่ธุรกิจของเราได้ทางใดบ้าง ซึ่งการพิจารณารายได้ในแต่ละช่องทางที่เข้ามา จะช่วยให้เราสามารถกำหนดทิศทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงคุณค่าในสินค้าหรือบริการ หรือ Value Proposition ให้เหมาะสม รวมไปถึง สามารถแยกแยะหรือตัดทอนกิจกรรมที่ไม่มีความคุ้มค่าออกไป หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สำหรับแหล่งที่มาของรายได้ใหม่
สำหรับ SMEs ที่ต้องการความรู้เรื่องเงินมากขึ้น หรือมองหาถึงสินเชื่อธุรกิจรูปแบบต่างๆ ไม่ควรพลาดงาน Smart SME Expo 2020 ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.-1 พ.ย. 63 ฮอลล์ 9-10 อิมแพ็คเมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด New Normal Together #ชี้ช่องรวย #ที่เดียวจบพบทางรวย
ลงทะเบียนเข้างานได้ที่ https://expo.smartsme.co.th/register/index.php
ส่วนธุรกิจไหนที่มีโซลูชั่นเพื่อ SMEs สามารถมาร่วมออกบูธได้
ติดต่อ 086 314 1482
E-Mail : [email protected]
https://expo.smartsme.co.th