‘ไร่ลุงท็อป’ จากเด็กหัวการตลาดผงาดสู่ธุรกิจร้อยล้าน


หลายท่านอาจสงสัย อายุยังอ่อนนักทำไมเรียกตัวเองว่า ‘ลุง’ ซึ่ง ท๊อป บอกว่าช่วงที่ผ่านมาคำว่า ‘ลุง กำลังฮิตเลยตามกระแสกับเขาบ้าง

โอภาส หรดี หรือ ‘ลุงท๊อป’ เกษตรกรหนุ่ม เจ้าของอาณาจักรต้นอ่อนทานตะวันคุณภาพสูง บริษัท เอสพีทีเทรดดิ้ง 2015 จำกัด (ไร่ลุงท๊อป) ตั้งอยู่เลขที่ 191/2 หมู่ 1 ซอย27 ถนนสายหรี่ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ผู้สร้างธุรกิจจากสองมือ และพรสวรรค์ด้านการค้าและเกิดในยุคที่โซเชียลมาแรง จึงมุ่งให้เทคโนโลยีทั้งในด้านการผลิต การตลาด จนสามารถต่อยอดจากการขายต้นอ่อนทานตะวันเพียงอย่างเดียวมาเป็นธุรกิจแบบครบวงจร กลายเป็นธุรกิจร้อยล้านได้ภายในเวลา 9 ปี และเป็นเถ้าแก่น้อยที่ประสบความสำเร็จในวัยเพียง 30 ปีเท่านั้น

กว่าจะมาเป็นไร่ลุงท๊อป

“เส้นทางธุรกิจผมเริ่มจากทางบ้านผมเคยเปิดร้านอาหารมาก่อน เพราะพ่อเป็นเชฟมีฝีมือด้านการทำอาหาร แล้วประสบปัญหาเศรษฐกิจช่วงต้มยำกุ้งจนต้องปิดกิจการ จึงเปลี่ยนอาชีพมารับจ้างขายของข้างถนน ช่วงนั้นผมลูกคนโตก็สละตัวเองออกมาจากการเรียนให้น้องอีก 6 คนได้เรียนต่อ เพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ช่วงนั้นเรารับจ้างขายของกัน 3 คน พ่อ แม่ ลูก ซึ่งพ่อได้ค่าแรงวันละ 500 แม่วันละ 300 ผมวันละ 150 ก็เก็บรวมกัน 850 (หัก 100 เป็นค่าใช้จ่ายในแต่วัน) ไว้ทุกวันๆ อยู่ 2-3เดือน”

เมื่อเก็บเงินก้อนแรกได้ 20,000 กว่าบาท จึงนำไปลงทุนขายผลไม้แบบกางร่มแดงริมถนนเป็นจุดๆ ต่อเนื่องกันไป แบบมีลูกน้องช่วยขายด้วย 4-5 คน แล้วก็เก็บเงินกันเป็นจริงเป็นจังช่วงนั้นรายได้ดี แต่ก็ลำบากหน่อยเพราะอากาศร้อน จนเมื่อมีเงินทุนราว 4-5 แสนบาทก็มาเปิดร้านอาหารแบบหลังคามุงหญ้าคา ตอนนั้นท๊อปเองก็ยังต้องช่วยงานร้านอาหารพ่อแม่อยู่ โดยทำงานเป็นฝ่ายการตลาด จัดทำใบปลิวตามแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด เน้นบริเวณเขื่อนป่าสักแจกใบปลิว คิดโปรโมชั่นเชิญชวนคนมาร้าน จนร้านของพ่อเริ่มตั้งหลักได้ จึงได้เริ่มคิดหาทางทำธุรกิจของตัวเอง โดยเน้นไปที่การเกษตร

เส้นทางการเกษตรที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย

ลุงท๊อป กล่าวอีกว่า ช่วงก่อนที่ออกมาทำธุรกิจเองก็เริ่มจากการจับเมล็ดทานตะวันมาเพาะไว้ข้างร้านพ่อแม่ แล้วตัดผักขายแบบเสนอเมนูทางเลือกให้ลูกค้าชนิดที่ว่า ตัดสดทำสดจากสวนข้างร้านกันเลยทีเดียว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนมีโอกาสได้ทำให้ท่านผู้ว่าจังหวัดได้ชิมครั้งแรก ในช่วงนั้นก็เพิ่งเริ่มวางแผนจะแยกจากพ่อแม่ และเริ่มทำเพจในเฟซบุ๊ก “ไร่ลุงท๊อป ต้นอ่อนทานตะวันออร์แกนิกส์” และได้ออกรายการสะเก็ดข่าวของช่อง 7 จากนั้นก็มีสื่อมากมายตามมาสัมภาษณ์ ถ่ายทำ ทำรายการกันแบบไม่ว่างเว้น ก็ทำให้ร้านพ่อแม่ผมดังไปด้วย จากร้านหลังคามุงจากก็เปลี่ยนมาเป็นร้านมาตรฐานอย่างดี

“อาจจะเป็นจังหวะด้วย เพราะต้นอ่อนทานตะวันขณะนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่ด้วยครับ ตอนนั้นผมเองก็อายุ 21 ก็อยากสร้างธุรกิจเองบ้าง เลยได้จังหวะที่จะแยกตัวออกมา บอกพ่อแม่ว่าจะออกมาทำเกี่ยวกับการเกษตรนะ ซึ่งพ่อแม่ผมค้านไม่อยากให้ออกไปทำ และมองว่าเกษตรเป็นอะไรที่ลำบาก รวยยากด้วย แต่ผมมองว่าการทำร้านอาหารนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยากเป็น อยากใช้ความคิดในการบริหารมากกว่า”

การมาปลูกต้นอ่อนทานตะวันขายช่วงนั้นก็มีคนผลิตขายอยู่แล้ว กิโลกรัมละ 250-400 บาท แต่ลุงท็อปเลือกสู้ในสมรภูมิราคา เน้นขายเร็ว จึงขายส่งที่กิโลกรัมละ 100 บาท โดยการเริ่มต้นทำตลาดเองจากการเดินเข้าหาลูกค้าโดยถือต้นอ่อนไปนำเสนอ เจาะตลาดกลุ่ม ร้านสเต๊ก ร้านอาหารสุขภาพ ซึ่งผลตอบรับดี ลูกค้าร้านอาหารออร์เดอร์มามาก ในช่วงนั้นรายได้วันละเป็นหมื่นบาท เลยรู้สึกว่าฝันเริ่มเป็นจริงแล้ว ก็ขยับขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ

ขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยี

หลังจากเริ่มทำธุรกิจอย่างจริงจัง และรายได้ที่มากขึ้น ก็เริ่มมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยมองหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง ทั้งในส่วนการคัดแยกเมล็ดทานตะวัน ขจัดสิ่งเจือปานที่อาจทำให้เกิดเชื้อรา เครื่องสีเมล็ดที่ทำให้ทำงานได้เร็วและมากขึ้น เพราะในช่วงที่มีออเดอร์มามาก การใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรแบบเดิมๆ ทำได้ไม่ทันตามความต้องการของตลาด แถมยังได้เมล็ดทานตะวันที่มีคุณภาพสูงอีกด้วย การันตีเมล็ดพันธุ์ของไร่ลุงท๊อปนั้นงอกดี 99% รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรื่องน้ำ การควบคุมความชื่น สภาพอากาศ การให้ปุ๋ย โดยเทคโนโลยีนั้นสามารถตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ดี

ทำตลาดออนไลน์ 100% จึงเห็นโอกาสช่วงโควิด-19

“เรียกว่าช่วงโควิดนี้กลายเป็นโอกาสของผม จากการที่ผมอยู่ในตลาดออนไลน์มานานกว่า จึงทำให้ติดตลาดได้ง่ายกว่าคนที่เพิ่งเข้ามาช่วงโควิด ทุกวันนี้ชีวิตจึงติดหลักร้อยล้านไปได้ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผมทำงานหนักอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเท จนก่อเกิดรูปแบบบริษัทขึ้นมาอย่างมั่นคงภายใต้กลุ่มธุรกิจไร่ลุงท๊อป ”

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ‘ไร่ลุงท็อป’ จากเด็กหัวการตลาดผงาดสู่ธุรกิจร้อยล้าน

www.bangkokbanksme.com