ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องประชาชนขาดการออมเงิน ขณะเดียวกันด้านหนี้สินภาคครัวเรือนกลับพุ่งสูงขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2554 ที่หนี้สินภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นจากการเช่าซื้อรถยนต์ในโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้เกิดหนี้สินภาคครัวเรือนมากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมด้านอื่นๆ ที่เข้ามาทำให้ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นอีก เช่นการกู้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วมปี 2554 และเกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินให้แก่บุคคลทั่วไป
ต่อมาในปี 2556 หนี้ครัวเรือนเริ่มขยายตัวแบบชะลอลงต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่กระนั้นหนี้สินภาคครัวเรือนก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 88-90% เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการพักชำระหนี้ ส่งผลทำให้ระดับหนี้ไม่ลดลงมากตามสภาพ และทำให้สภาพปัญหาเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว มีความเปราะบางมากขึ้นไปอีก จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 80.1% ในไตรมาส 1/63 สะท้อนว่าภาคครัวเรือนกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวของการกู้ยืม
“Gen Y–Gen X” ติดอันดับแชมป์สร้างหนี้
ข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า กลุ่มที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่ม Gen Y โดย ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2563 มีหนี้รวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย (NPL) คงค้างถึง 2.7 แสนล้านบาท รองลงมาคือกลุ่ม Gen X มีการก่อหนี้ที่ 3.7 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เสียในระบบอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่ม Baby boom มีหนี้สินคงค้างรวม 1.2 ล้านล้านบาท มีหนี้เสีย 8.4 หมื่นล้านบาท ส่วน Gen Z มีหนี้สินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้เสียแล้ว 1.2 พันล้านบาท โดยหนี้เสียของ Gen Z กระจุกตัวในสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวว่า ถ้าดูหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก มีราวๆ 8.4 แสนบัญชี ในจำนวนนี้ราว 50% เป็นกลุ่มเจนวาย และหากดูกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้ ที่เริ่มค้างชำระตั้งแต่ 31 วัน ไปจนถึง 90 วันขึ้นไป ซึ่งถือว่ากลายเป็นหนี้เสียแล้ว พบว่ากลุ่ม Gen Y มีมากสุด และหนี้เสียในกลุ่มนี้ยังเร่งตัวขึ้นมากด้วย ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นหนี้ที่มีปัญหามากกว่า 1 แสนล้านบาท อีกกลุ่มที่หนี้เสียเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องคือ Gen X มีบัญชีที่มีปัญหากว่า 1.1 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้างเกือบ 1.4 แสนล้านบาท
สำหรับหนี้บ้าน หากดูจำนวนบัญชีที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก พบว่ามี 8 หมื่นบัญชี เป็นของกลุ่ม Gen Y ในสัดส่วน 64% ส่วนจำนวนหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระที่น่าห่วงในกลุ่มนี้ คือ กลุ่ม Gen Y และ Gen X พบว่า จำนวนบัญชีที่ค้างชำระเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย Gen Y 1.1 แสนบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้าง 1.4 แสนล้านบาท ส่วน Gen Y หนี้ที่มีปัญหาเกือบ 1.2 แสนบัญชี มีหนี้ค้างชำระกว่า 1.3 แสนล้านบาท
ส่วนกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือลูกหนี้กลุ่ม Gen x ที่มีอายุตั้งแต่ 38-54 ปี เนื่องจากกลุ่มนี้มักบริโภคนิยม จึงก่อหนี้เต็มที่แทบทุกสินเชื่อ เพราะอยู่ในช่วงสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งมั่นคง พอเกิด income shock หรือสูญเสียงาน ภาระค่าใช้จ่ายและภาระการจ่ายหนี้คืนจึงสูงมากๆ
…แม้ช่วงที่ผ่านมากลุ่มดังกล่าวมีการปรับโครงสร้างหนี้ไประดับหนึ่งแล้ว แต่ยังคงกังวลว่าเมื่อเกิดผลกระทบจากโควิด-19 แม้จะมีจำนวนหนึ่งที่มีงานทำหรือมีธุรกิจรองรับก็ตาม แต่คนกลุ่มนี้จะหารายได้จากไหนเพื่อมาชำระหนี้ที่มีได้