ปมความขัดแย้งทางการเมืองทำสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ยอดขายลดฮวบ


ความขัดแย้งที่ยังหาบทสรุปไม่ได้ทำให้แบรนด์สินค้าจากญี่ปุ่นถูกบอยคอยต์จากผู้บริโภคในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนส่งผลกระทบต่อยอดขายในที่สุด

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น มาจากกระแสชาตินิยมกับเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากศาลเกาหลีใต้มีคำสั่งให้บริษัทญี่ปุ่นชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ที่เป็นแรงงานในช่วงญี่ปุ่นเข้ามาครอบครองเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ตอบโต้ด้วยการจำกัดวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีสำคัญ 3 ชนิดไปยังเกาหลีใต้ เพื่อเป็นการประท้วง ซึ่งการออกมาดำเนินการครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีของเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก เพราะพวกเขายังต้องพึ่งพาวัตถุดิบนี้จากญี่ปุ่นอยู่

ด้วยกระแสชาตินิยมของชาวเกาหลีใต้ จึงมีการรวมตัวรณรงค์บอยคอยต์ไม่ใช้สินค้าแบรนด์ญี่ปุ่น พร้อมกับติดแฮชแท็กในโลกออนไลน์ว่า “Boycott Japan”

ตามรายงานของ CEO Score บริษัทวิจัยในเกาหลีใต้ เผยว่าเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ผลกำไรการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในเกาหลีใต้ ลดลง 71.3% คิดเป็น 145.9 พันล้านวอน (3.78 พันล้านบาท) ในปี 2019 เช่นเดียวกับรายได้รวมที่ลดลง 6.9% มาอยู่ที่ 7.9 พันล้านวอน (2.06 แสนล้านบาท)

ด้าน Akiyoshi Koji ซีอีโอของ Asahi Group Holdings กล่าวว่า จนถึงตอนนี้จะเห็นว่าเรื่องของการเมืองส่งผลกระทบต่อการบริโภคต่อสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน ดูได้จาก “เบียร์” ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าขายดีเป็นอันดับต้น ๆ ในเกาหลีใต้ 8 ปีติดต่อกัน กลับมียอดขายลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเบียร์ Asahi ที่ยอดขายลดลงไปถึง 50.1% คิดเป็น 62.3 พันล้านวอน (1.62 พันล้านบาท) ในปี 2019

ไม่เพียงเท่านั้น Oryoon Lee นักวิเคราะห์จาก Euromonitor International กล่าวว่ายอดขายของร้านสะดวกซื้อได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยยอดขายเบียร์ในร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็น CU และ Mini Stop พบว่ามียอดขายร่วงเช่นกันจนต้องมีการคืนสินค้า และเคลียร์สต็อก
“เบียร์จากญี่ปุ่นถูกบอยคอยต์ จนถูกเบียร์ Tsingtao จากจีน แซงขึ้นมามียอดขายดีที่สุดแทนที่ Asahi และตามมาด้วย Heineken”

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าประเภทอื่น ๆ จากญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ทั้งรถยนต์ Nissan ที่ยอดขายลดลง 18.9% ในปี 2019, Ajinomoto บริษัทอาหารที่กำลังประสบปัญหาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยยอดขายในญี่ปุ่นลดลง 34.2% คิดเป็น 21 พันล้านวอน (2.5 พันล้านบาท) ในปี 2019, Fast Retailing เจ้าของแบรนด์ Uniqlo ที่ผลการดำเนินการในเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากการบอยคอยต์สินค้า และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่มา: asia.nikkei.com