อาคารบังคับน้ำ โครงการประตูระบายน้ำ ลำปลายมาศบ้านโคกกลาง จังหวัดบุรีรัมย์


ประตูระบายน้ำลำปลายมาศบ้านโคกกลาง ตั้งอยู่ในลำน้ำมาศ ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ปัจจุบันชำรุดเสียหายไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเมื่อถึงฤดูน้ำหลากระดับน้ำเหนือฝายจะเข้าท่วมพื้นที่ นาข้าวใกล้เคียง ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้วางแผนการแก้ไขปัญหาโดยก่อสร้าง อาคารบังคับน้ำใหม่ ออกแบบโดยสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม

อาคารบังคับน้ำโครงการประตูระบายน้ำลำปลายมาศ บ้านโคกกลางเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดสูง 3.50 เมตร ยาว 24.00 เมตร และมีประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 2 ช่อง ขนาดกว้าง 6.00 เมตร สูง 6.00 เมตร ตั้งอยู่ริมสองข้างของฝายรวมถึงป้องกันการกัดเซาะด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำด้วย GABION และ MATTRESS เพื่อป้องกันลาดตลิ่งไม่ให้พังเสียหาย

เพื่อให้อาคารบังคับน้ำสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายและมีประสิทธิภาพจึงออกแบบอาคารให้สามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ โดยการนำเอาฝายมารวมกันกับประตูระบายน้ำ อาคารประเภทนี้เหมาะสำหรับ วางบนพื้นที่แม่น้ำหรือคลองสายหลัก ในฤดูน้ำแล้งใช้งานฝายเป็นหลักเพื่อยกระดับน้ำและเก็บกักน้ำตามความสูงของระดับสันฝายน้ำส่วนเกินไหลข้ามสันฝายไปทางด้านท้ายน้ำในการรักษาระบบนิเวศของลำน้ำ ส่วนในฤดูน้ำหลากสามารถระบายน้ำโดยการเปิดประตูระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำหลากได้ทันท่วงที โดยไม่ทำให้ระดับน้ำด้านเหนือเอ่อท่วมพื้นที่เหมือนเช่น ฝายเดิมที่ชำรุดและการเปิดบานระบายสามารถ ระบายได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้หันมาสนใจงานของกรมชลประทาน จึงได้ทำการออกแบบอาคารบังคับน้ำให้มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยออกแบบให้ส่วนของ โครงยกมีความโค้งเว้าอ่อนช้อยเป็นสัญลักษณ์แทนต้นข้าวที่กำลังออกรวง ส่วนของราวกันตกเป็นสัญลักษณ์แทนเมล็ดข้าว หลังคาคลุมโครงยกที่โค้งเว้าเป็นสัญลักษณ์ แทนหมวกของเกษตรกรผู้ดูแลนาข้าว โดยส่วนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนตอม่อที่มีน้ำไหลผ่านอยู่ด้านล่าง เป็นสัญลักษณ์แทนกรมชลประทานซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกรรม